วิเวก 3

วิเวกคือการฝึกอยู่ในความสงบ มี 3 อัน มีกายวิเวก คือไม่คลุกคลี คลุกคลีเท่าที่จำเป็น ยุ่งกับคนอื่นเท่าที่จำเป็น มีจิตตวิเวก อยู่กับตัวเองให้เยอะๆ เรียนรู้ตัวเองให้มาก แล้วต่อไปจะได้ผลพลอยได้อันหนึ่ง คืออุปธิวิเวก สงบจากกิเลส ถ้าเราภาวนาเป็นเราจะรู้เลย ตัวที่ทำให้จิตใจเราไม่สงบก็คือกิเลสทั้งนั้น ไม่ใช่ตัวอื่นเลย เราหัดภาวนา จิตเราก็สงบได้จิตตวิเวก แล้วก็ได้เห็นความจริง เวลากิเลสเกิด จิตใจมันดิ้นรน ฟุ้งซ่านวุ่นวาย พอเราเห็นอย่างนี้เรื่อยๆ เห็นบ่อยๆ ไปจะรู้เลย ศัตรูของชีวิตเราไม่ใช่คนอื่น ไม่ใช่โควิด

เราหลงโลกที่ว่างเปล่า

เราอยู่กับปรากฏการณ์แต่ละขณะๆ เรารู้สึกจริงจัง มีความสุขบ้าง มีความทุกข์บ้าง ก็รู้สึกว่าเป็นของจริง แต่พอมันผ่านไปแล้ว มันก็ไม่มีความหมายอะไร เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้ว ชีวิตเรา กระทั่งในขณะนี้ มันก็เหมือนเราฝันอยู่ หาสาระแก่นสารอะไรจริงจังไม่ได้ พอคิดว่ามันจริงจัง สภาวะที่กำลังปรากฏอยู่มันก็มามีอิทธิพลเหนือจิตใจเรา จิตใจเราเดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ แทนที่เราจะต้องรอจนวันคืนล่วงไปๆ แล้วค่อยเห็นว่าอดีตไม่มีสาระแก่นสาร เรามาฝึกอยู่กับปัจจุบัน จนเห็นว่ากระทั่งปัจจุบันนี้ก็ไม่มีสาระแก่นสารอะไรจริงจัง

เห็นทุกข์จึงละได้

กิเลสอะไรเกิดขึ้นเรารู้ทัน ตัวที่ทำให้ใจเราขาดตัวหิวนั่นเอง มันไม่เต็มมันอยากได้เยอะๆ แต่ได้ไม่เต็มมันขาดตลอดชีวิต เราภาวนาไปเรื่อยๆ ค่อยๆ เห็นไปมีกิเลสทีไรก็มีทุกข์ มีกิเลสทีไรก็เห็นโทษ มีกิเลสขึ้นมาก็เกิดภาระทางใจ เพราะมีกิเลสก็เกิดการกระทำกรรม กรรมนั่นล่ะคือภาระของจิต… ไปดูให้ดีกิเลสเกิดทีไรจิตก็ดิ้นรนทุกที ราคะเกิดจิตก็อยากได้ดิ้นรนอยากได้ อยากรักษาเอาไว้ โทสะเกิดจิตอยากผลักออกไป ส่วนโมหะยังดูยากใจมันหลงอะไรอย่างนี้ดูยากหน่อย เรียนราคะ โทสะให้แตกฉานก่อน เรียนของง่ายก่อน ของยากเดี๋ยวค่อยตามมา ดูลงไปมีราคะเกิดก็มีทุกข์มีภาระ มีโทสะเกิดก็มีทุกข์มีภาระของใจ เฝ้ารู้เฝ้าดูไป แล้วจะเหมือนอย่างที่หลวงปู่เทสก์ท่านบอกว่ามันละได้เพราะว่าเห็นโทษ เหมือนอย่างหลวงปู่ดูลย์บอกมันละได้เพราะมันเห็นทุกข์

สู้กับตัณหาด้วยสติและปัญญา

ตัณหามีได้เพราะอวิชชา ความไม่รู้แจ้งแทงตลอดในขันธ์ 5 เราไม่รู้ว่าร่างกายนี้คือตัวทุกข์ เราคิดว่าร่างกายนี้เป็นทุกข์บ้างเป็นสุขบ้าง เราก็เกิดความอยากให้ร่างกายมีความสุข เกิดความอยากให้ร่างกายไม่ทุกข์ เราไม่รู้แจ้งแทงตลอดว่าจิตนี้คือตัวทุกข์ เราเห็นว่าจิตนี้เป็นทุกข์บ้างเป็นสุขบ้าง เราก็เลยเกิดความอยาก อยากให้จิตมีความสุข อยากให้จิตไม่ทุกข์ มีความอยากเกิดขึ้นเพราะความไม่รู้ความจริง ถ้ารู้ความจริงว่ากายนี้เป็นตัวทุกข์ จิตนี้เป็นตัวทุกข์ ความอยากให้กายให้ใจไม่ทุกข์นี่มันจะไม่เกิด ความอยากให้กายให้ใจเป็นสุขมันก็ไม่เกิด เพราะรู้ว่ามันคือตัวทุกข์ ความอยากให้มันไม่ทุกข์ก็ไม่เกิด เพราะรู้ว่ามันเป็นทุกข์ ความอยากให้มันสุขก็ไม่เกิด เพราะรู้ว่ามันเป็นทุกข์ นี่รู้ทุกข์

ขันธ์ 5 ทั้งหมด ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

ร่างกายเราไม่ใช่ของดีของวิเศษหรอก เราเรียนรู้กายตัวเองมันก็เข้าใจกายคนอื่นด้วย ก็ไม่ใช่ของดีของวิเศษไม่น่าหลงไม่น่าคลั่งไคล้ คนนี้ไอดอลเรา สวยเหลือเกิน ในสายตาของผู้ปฏิบัติคือถุงหนังที่บรรจุของโสโครก ไม่ได้มีดีวิเศษอะไรนักหนาหรอก เอามายกให้ยังไม่เอาเลย ลองภาวนาไปช่วงหนึ่ง เอานางงามมายกให้ยังไม่อยากได้เลย ดูไปก็เห็นแต่ของสกปรกเราค่อยๆ ฝึกตัวเรา พอเรามีสมาธิขึ้นมาแล้วก็มาเดินปัญญาต่อ อย่างจิตเรามีราคะมาก เราก็พิจารณาปฏิกูลพิจารณาอสุภะ ราคะมันก็ดับ อย่างถ้าเรามีโทสะเราก็เจริญเมตตาไป ถ้าเรารู้สิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิด คำพูด และการกระทำของคนอื่น เราจะโกรธไม่ลงหรอก เพราะว่าสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิด คำพูด การกระทำ ก็คือราคะ โทสะ โมหะเหมือนที่อยู่เบื้องหลังความคิด คำพูด และการกระทำของเราเหมือนกัน ไม่ได้ดีวิเศษอะไรหรอก มันก็จะไม่เกลียดไม่ชังกัน

ทางสายกลางคือรู้อย่างที่มันเป็น

ทางสายกลางมันอยู่ตรงนี้ ไม่ใช่ตามใจกิเลส หรือละตัณหาด้วยตามใจกิเลส ข่มตัณหาด้วยการบังคับกายบังคับใจ อันนั้นไม่ใช่ทาง ทางคือทางสายกลางคือรู้อย่างที่มันเป็น รู้กายอย่างที่กายเป็น รู้ใจอย่างที่ใจเป็น เมื่อรู้แล้วความอยากจะไม่เกิด เมื่อความอยากไม่เกิดความทุกข์จะไม่มี นี่คือหลักที่เราจะต้องเรียนแล้วลงมือทำ

สติ คือสิ่งจำเป็นตลอดสายของการปฏิบัติ

สตินั้นจำเป็นตลอดสายของการปฏิบัติ มีสติรู้สิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิดคำพูดการกระทำ ถ้าเราทำได้อย่างนี้ละก็ อกุศลที่มีจะดับ อกุศลใหม่จะไม่เกิด กุศลที่ยังไม่เกิดจะเกิด กุศลที่เกิดแล้วจะพัฒนาขึ้น สติจากที่เคยต้องเคี่ยวเข็ญให้เกิดก็จะกลายเป็นสติอัตโนมัติ สมาธิที่เคยโง่ซื่อบื้อ ให้เป็นสมาธิที่เดินปัญญาเป็น มันเจริญขึ้นๆ ปัญญาไม่รู้จะทำอย่างไร คิดเอาคิดเอา มันกลายเป็นเห็นเอา มันไม่ใช่คิดเอา อัตโนมัติขึ้นมา

รู้ทุกข์แจ่มแจ้ง คือถึงที่สุดแห่งทุกข์

เราเรียนธรรมะ เรียนให้มันถึงแก่น เรียนถึงแก่นคือเรียนให้มันถึงทุกข์ ถ้าไม่รู้ทุกข์ก็ไม่รู้ธรรมหรอก ลงมาเรียนให้รู้ลงมาให้ได้ กายนี้คือตัวทุกข์ล้วนๆ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย มันจะไม่เกิดตัณหา อยากสุข อยากไม่ทุกข์ เรียนรู้ลงมา จิตใจนี้เดี๋ยวมันมีอารมณ์อย่างนั้น เดี๋ยวมีอารมณ์อย่างนี้ หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันก็วิ่งไปดู วิ่งไปฟัง วิ่งไปคิด มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ทำไมมันต้องดิ้นรนอย่างนั้น ก็เพราะตัวมันทุกข์ แต่เรายังไม่เห็น

ถ้าเราเห็น พยายามรู้สึกอยู่ในกายรู้สึกอยู่ในใจ เดี๋ยววันหนึ่งเราก็เห็นความจริง ร่างกายนี้คือตัวทุกข์ จิตนี้คือตัวทุกข์ นี่เรียกว่าเรารู้ทุกข์

ธรรมะของพระพุทธเจ้าชัดเจนแจ่มแจ้ง

ธรรมะของพระพุทธเจ้าชัดเจน เช่น ถ้าเรามีตัณหาเราจะต้องทุกข์ทางใจ ถ้ามีตัณหาเมื่อไรต้องทุกข์ทันที อันนี้ไม่มีใครเถียงได้ ถ้าเรามีศีล สมาธิ ปัญญาถึงจุดหนึ่ง โลกุตตรธรรมก็ปรากฏขึ้น เกิดมรรคเกิดผลขึ้นมา อันนี้คนที่มันยังไม่ถึงมันก็เถียง ฉะนั้นท่อนหลังของอริยสัจจ์นี่เอาไว้ให้คนที่รู้เรื่องฟังกันคุยกัน อย่างพระคุยกัน ไปหาครูบาอาจารย์คุยธรรมะกันมันมากเลย บางทีท่านออกปากเลยว่าไม่ได้คุยสนุกอย่างนี้มาเป็น 10 ปีแล้วไม่มีใครคุยด้วย คุยธรรมะกัน นอกนั้นก็มาเรื่องโลกๆ เรื่องโลกๆ คุยแล้วจืดๆ

แต่พวกเรายังเป็นชาวโลกอยู่ เราดูให้ดีเถอะทุกครั้งที่มีความอยาก ใจจะมีความทุกข์จริงหรือไม่จริง ไปพิสูจน์ด้วยตัวเองเลย ถ้าไม่ใช่ก็แสดงว่าพระพุทธเจ้าไม่ใช่สัพพัญญูแล้ว พระพุทธเจ้าสอนผิดแน่นอนแล้ว แต่เรากล้าท้า ไปทำให้ถูกเถอะ แล้วอย่างไรเถียงพระพุทธเจ้าไม่ออกหรอก ศิโรราบกับพระพุทธเจ้าเลย

สร้าง New Normalให้เคยชินที่จะรู้สึกตัว

จิตของเราในขณะนี้เป็นอย่างไรคอยรู้สึกไปเรื่อยๆ หัดรู้สึก หัดที่จะรู้สึก ไม่ใช่หัดที่จะหลง มาฝึกความเคยชินใหม่ที่จะรู้สึก จิตใจเรามีความสุขก็รู้ จิตใจเรามีความทุกข์ก็รู้ จิตใจจะดีก็รู้ จิตใจจะโลภ จะโกรธ จะหลงอะไรอย่างนี้ก็รู้ อย่างเวลาอยากฟังเทศน์ อยากมาวัด เห็นเขาเปิดจองลงทะเบียนก็ลงบ้าง ตอนนั้นจิตเป็นกุศล อยากมาฟังธรรม พอถึงเวลาจะมาวัดจริง มันขี้เกียจตื่น นี่อกุศลมันเกิดแล้วถ้าเราเคยฝึกของเราดี จิตเราเป็นกุศลเราก็รู้ จิตมันขี้เกียจขี้คร้านขึ้นมาเราก็รู้ หัดรู้มันไปเรื่อยๆ สุดท้ายมันจะเห็นว่าความรู้สึกทุกชนิดมันไม่ใช่จิต จิตเป็นคนรู้สึก แต่ความรู้สึกไม่ใช่จิต คนละอันกัน เพราะฉะนั้นเราฝึกมากๆ เราก็จะเห็นว่าจิตก็อันหนึ่งความรู้สึกก็อันหนึ่ง จิตเป็นแค่คนรู้ ส่วนความรู้สึกนั้นมันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไป จิตทำหน้าที่ธรรมชาติรู้เท่านั้นเอง

Page 43 of 49
1 33 34 35 36 37 38 39 40 41 42 43 44 45 46 47 48 49