เจริญพร หลวงพ่อออกมาเร็วไปนิดหนึ่ง 2 อาทิตย์นี้พอดีเป็นไข้หวัดใหญ่ไปเลยเสียงไม่ค่อยมี วันนี้ก็เลยต้องย่นเวลานิดหนึ่ง ไม่ได้ตรวจการบ้าน ไม่มีเสียง ฟังเทศน์เอา ที่จริงถ้าฟังที่หลวงพ่อสอนบ่อยๆ เราจะพบว่าคนที่ถามการบ้านจะถามซ้ำกัน ปัญหามันก็ปัญหาเหมือนๆ กัน นานๆ จะมีปัญหาแปลกๆ ออกไปทีหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่ก็คือจิตไม่เข้าทางสายกลาง เวลาลงมือปฏิบัติพวกหนึ่งก็คือหลงไปเลย ไม่มีสติ จิตล่องลอยไป มีร่างกายลืมร่างกาย มีจิตใจลืมจิตใจ นี่เป็นปัญหาใหญ่สำหรับคนซึ่งไม่ได้ปฏิบัติ
มีตัณหาเมื่อไรก็มีภพเมื่อนั้น
มีภพเมื่อไรก็มีทุกข์เมื่อนั้น
ในโลกมีแต่คนหลง คนที่เขาไม่ได้เคยเรียนไม่เคยฝึกจะหลง ส่วนใหญ่ก็หลงไปคิด เวลาตามองเห็นรูปก็หลงไปดู สนใจในสิ่งที่มองเห็น มีร่างกายก็ลืมกาย มีใจก็ลืมใจ หลงอันดับ 3 หลง หลงไปฟัง สังเกตง่ายๆ เวลาที่พวกเราดูซีรีส์ เวลาดูซีรีส์ใจก็หลงไปดู บางทีก็หลงไปฟังว่ามันพูดอะไร พอไปดูไปฟัง เราก็ต้องคิด สังเกตดูถ้าเราดูโดยไม่คิดต่อ รับรองไม่สนุก เพราะกิเลสของเราไม่กระเพื่อม ใจเราเฉยๆ เพราะใจเรามันแกว่งขึ้นแกว่งลงตามหลังความคิดมา
อย่างดูซีรีส์แล้วใจเราเฉย ไม่กระเพื่อมหวั่นไหว ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของการแสดง นักแสดงพยายามกระตุ้นให้จิตเราแกว่งขึ้นแกว่งลง ทีนี้ถ้าใจเราไปนั่งเพ่งนิ่งเฉยอยู่ ใจไม่แกว่ง แต่ก็ไม่ใช่ดี หลงมันก็เลยมีที่คนในโลกเขาหลงกัน หลงไปดู หลงไปฟัง หลงไปคิด จิตก็เลยแกว่งขึ้นแกว่งลง เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย ไปสังเกตให้ดีมันตามหลังการกระทบอารมณ์มา
มีการกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วก็เกิดความรู้สึกสุขรู้สึกทุกข์ขึ้นในใจ กระทบอารมณ์อันนี้พอใจมีความสุข กระทบอารมณ์อันนี้ไม่พอใจมีความทุกข์ อย่างเห็นคนที่เราเกลียดอย่างนี้ ใจเราก็ไม่มีความสุขเจอคนที่เกลียด เจอคนที่รักใจมีความสุขพอใจที่ได้เห็น พอมีความรู้สึกสุขความรู้สึกทุกข์ กิเลสก็จะตามหลังมา เวลามีความรู้สึกสุขก็ยินดีพอใจมีราคะแทรกเข้ามา เวลากระทบอารมณ์แล้วมีความทุกข์ขึ้นมาโทสะก็แทรกไม่พอใจ อยากให้อารมณ์นั้นหมดไปสิ้นไป นี่เป็นกระบวนการที่จิตมันทำงาน ทีนี้คนส่วนใหญ่ไม่เคยเห็น เพราะคนท่านที่ค้นพบศาสตร์ตัวนี้ก็คือพระพุทธเจ้า อันนี้อยู่ในเรื่องของปฏิจจสมุปบาท เป็นกระบวนการที่จิตมันปรุงแต่งความทุกข์ขึ้นมา
จะเริ่มจากพวกเรามีผัสสะ มีการกระทบอารมณ์ เราไม่มีสติกำกับ พอกระทบอารมณ์แล้วใจเรามีความสุขบ้างมีความทุก์บ้าง อันนี้เป็นเรื่องปกติเรียกว่าตัวเวทนาเป็นวิบาก ห้ามมันไม่ได้หรอก ตัวผัสสะก็เป็นวิบาก ห้ามมันไม่ได้ อย่างเราจะเห็นรูปที่พอใจหรือรูปที่ไม่พอใจ เราเลือกไม่ได้ เรามีตาใช่ไหม มันก็เห็นรูปที่ถูกใจบ้างไม่ถูกใจบ้าง เวลากุศลให้ผลมาเราก็เห็นรูปที่ถูกใจ เวลาอกุศลให้ผลมาเราก็เห็นรูปที่ไม่ถูกใจ
ฉะนั้นตัวผัสสะนี่เป็นวิบากเป็นผลของกรรม เราเลือกไม่ได้ว่าเราจะกระทบอารมณ์ที่พอใจหรือไม่พอใจ ทีนี้พอกระทบอารมณ์แล้ว จะเกิดความรู้สึกสุขรู้สึกทุกข์หรือรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์อะไรนี่ เราก็เลือกไม่ได้ จิตมันเป็นไปเอง ฉะนั้นตัวเวทนาก็เป็นวิบากเหมือนกัน ไม่ใช่กิเลส ไม่ใช่กรรม เป็นตัววิบาก ห้ามไม่ได้ สั่งไม่ได้ ถ้าสั่งได้ทุกคนก็สั่งหมดแล้วว่าทุกคราวที่กระทบอารมณ์แล้วจงมีแต่ความสุข ซึ่งสั่งไม่ได้ หรือกระทบอารมณ์แล้วอย่ามีความทุกข์ เราสั่งไม่ได้
ทีนี้พอมีเวทนาแล้วสิ่งที่ตามเวทนามาคือกิเลส กิเลสมักจะแฝง ถ้าเรามีสติรู้ มีผัสสะแล้วเรามีสติอยู่ จิตใจก็จะเป็นสุขหรือทุกข์ก็ได้หรือเป็นอุเบกขาอะไรขึ้นมา เรามีสติรู้ลงไปอีก แต่ถ้าเรามีสติอยู่จริงๆ จิตจะเป็นกุศล จะมีเวทนาได้ 2 อย่าง มีความสุขกับอุเบกขา ส่วนความทุกข์ ทุกข์ทางใจอย่างนี้ เป็นจิตเกิดร่วมกับจิตอกุศลเสมอ เป็นจิตชนิดที่มีโทสะแฝงอยู่
นี่เราค่อยๆ เรียน เราก็จะเห็นว่าเวลามีเวทนาเกิดขึ้น มักจะมีกิเลสตามเวทนามา แทรกตัวตามเวทนามา เพราะคนส่วนใหญ่เขาไม่มีสติ ฉะนั้นเวลากระทบอารมณ์ที่พอใจ ก็เกิดราคะเกิดยินดีพอใจ แต่ถ้าเราเป็นนักปฏิบัติ พอกระทบอารมณ์ที่พอใจ จิตเกิดชอบขึ้นมามีราคะขึ้นมา เรามีสติรู้ทัน กิเลสจะดับ ราคะจะดับ จิตเราก็จะมีความสุขหรือเป็นอุเบกขา เพราะว่าเรามีสติขึ้นมา
ตัวราคะนี่จิตมีความสุขได้ แต่เป็นความสุขที่ปนเปื้อนกิเลส จิตที่เป็นกุศลก็มีความสุขได้ แต่ไม่เปื้อนกิเลส ค่อยๆ ฝึก ค่อยๆ สังเกตจิตใจของเราไปทีละช็อต ทีละช็อต ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ รู้ไป เราจะพบว่าพอมีผัสสะก็มีเวทนา พอมีเวทนาแล้วมันมีตัณหา ตัณหาคือความอยาก อย่างพอเรามีผัสสะที่ถูกใจเป็นอารมณ์ที่ชอบใจ จิตใจเรามีความสุขที่ได้สัมผัสอารมณ์นั้น ความยินดีพอใจหรือตัวราคะมักจะแทรก พอราคะมันแทรกเข้ามา เราก็อยากให้อารมณ์ตัวนี้คงอยู่นานๆ นี่เรียกว่าตัณหา ความอยากเกิดขึ้นแล้ว มันตามหลังเวทนามา
อย่างมีความสุขเกิดขึ้น เราก็อยากให้ความสุขอยู่นานๆ อันนี้เรียกว่าภวตัณหา พอความสุขหายไปเราเสียดาย เสียดายอยากให้มันกลับมา อยากได้ความสุขอันนั้นคืนมาอีก อันนี้เรียกว่ากามตัณหา อยากได้อารมณ์ที่ถูกใจ พอได้อารมณ์ที่ถูกใจแล้วอยากให้อารมณ์ที่ถูกใจนี้คงอยู่นานๆ นี่เรียกว่าภวตัณหา แต่พอเรากระทบอารมณ์ที่ไม่ถูกใจ อยากให้มันหมดไปสิ้นไปอันนี้เรียกว่าวิภวตัณหา อยากให้มันจบๆ ไปเร็วๆ อย่างเวลาเราไม่สบาย เราอยากให้มันหายเร็วๆ นี่อยาก มีตัณหา ตัณหานี้อยากให้โรคภัยไข้เจ็บหายเร็วๆ หรือเวลามีเรื่องกลุ้มใจอยากให้หายกลุ้มเร็วๆ มีความอยากเกิดขึ้นแล้ว
พอมีความอยากเกิดขึ้นในใจเรา ความดิ้นรนในใจจะเกิดขึ้น จะเกิดความดิ้นรนปรุงแต่ง มีตัณหาก็จะเกิดการสร้างภพขึ้นมา ภพก็คือการดิ้นรนปรุงแต่งของจิตนั่นล่ะ เป็นภพที่เกิดทั้งวัน พอเรามีความอยากอันนี้เกิดขึ้น ใจเราก็ดิ้นไปตามอำนาจของความอยากนั่นล่ะ อยากได้มาใจก็ดิ้นแสวงหา อยากให้คงอยู่ใจก็ดิ้นที่จะรักษาเอาไว้ อยากให้หมดไปสิ้นไปใจก็พยายามผลักดิ้นรนให้อารมณ์ที่ไม่ดีนั้นหมดไปสิ้นไป
ทีนี้พอใจมีความดิ้นรน ใจเราก็เสียสมดุลแล้ว ใจหลงไปในความปรุงแต่ง สิ่งที่ตามมาคือทุกข์ มีตัณหาเมื่อไรก็มีภพเมื่อนั้น มีภพเมื่อไรก็มีทุกข์เมื่อนั้น ฉะนั้นภพไม่ว่าจะภพดีภพวิเศษแค่ไหนมันก็ทุกข์ ทีนี้พวกเราหัดภาวนาบางทีเราดูยาก ภพบางอย่างมันดูยากว่ามันไม่ดี อย่างเวลาเรานั่งสมาธิจิตเราสงบสบายโล่งว่างมีความสุข เรารู้สึกภพอันนี้ดีติดอกติดใจ ฉะนั้นพวกที่นั่งสมาธิแล้วติดสมาธิ ถ้าจะตายไป ไปเป็นพระพรหม ก็อยู่ในภพที่มีความสุขอยู่อย่างนั้นล่ะ หรือสงบอยู่อย่างนั้น นานจนโลกแตกแล้วแตกอีกก็ยังติดอยู่ตรงนั้นไปไหนไม่ได้ แล้วมองไม่ออกว่าภพที่ละเอียดที่ประณีตที่มีความสุข เอาเข้าจริงมันยังพึ่งพาอาศัยไม่ได้ มันยังแปรปรวนได้อีก
ใช้ความสังเกตให้มาก
อะไรๆ ก็สู้โยนิโสมนสิการไม่ได้
ฉะนั้นเวลาเราภาวนานี่หลวงปู่ดูลย์ท่านเคยบอกหลวงพ่อ บอกผู้ปฏิบัติที่ว่าดีมีชื่อเสียง ส่วนใหญ่เป็นแค่ผีใหญ่ ผีใหญ่คือเป็นพรหม ทำไมถึงเป็นพรหม เพราะภาวนาแล้วจิตใจมันไปสร้างภพที่ละเอียด ภพที่มีความสุข ภพที่มีความสงบ ภพที่ดูดีสว่างไสว จิตใจมันก็ติดอกติดใจพอใจอยู่ในภพอันนี้ มันก็วางภพนี้ไม่ได้ ฉะนั้นส่วนใหญ่ท่านบอกว่านักปฏิบัติที่ว่าระดับครูบาอาจารย์มีชื่อเสียงอะไรนี่ ส่วนใหญ่เป็นผีใหญ่เป็นพรหมเป็นพระอนาคามีอะไรอย่างนี้ ไม่จบ คนที่จบจริงๆ น้อยมากเลย จนในตำราเขาพูดว่า ในยุคของเรานี้อย่างมากก็ได้พระอนาคามี ตำราเขาจะบอกอย่างนั้น
ซึ่งมันก็ไม่ได้มีว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นเสมอไป แต่ว่าส่วนใหญ่มันได้แค่นั้นจริงๆ เพราะอะไร เพราะยังไม่สามารถเห็นทุกข์อย่างแจ่มแจ้งได้ น้อยคนที่จะพ้นออกไปได้ ฉะนั้นที่ตำราบอกว่ายุคของเรานี่อย่างมากก็พระอนาคามี คงมองในแง่ว่าคนส่วนใหญ่ที่ภาวนาทำดีที่สุดแล้วส่วนใหญ่ก็ได้แค่นั้น เพราะสติปัญญาไม่พอที่จะเห็นว่าสภาวะที่สงบที่มีความสุขมีความสบายสว่างไสวอะไรอย่างนี้ มองไม่เห็นว่ามันคือทุกข์ แค่ไปมองว่ามันเป็นของดีของวิเศษ พอภาวนาจิตเราว่างสว่าง ก็ โอ ดีแล้วตรงนี้
ฉะนั้นเวลาภาวนาต้องใช้ความสังเกตให้มาก อะไรๆ ก็สู้โยนิโสมนสิการไม่ได้ คือมีความแยบคายในการสังเกตจิตใจตัวเอง อย่างถ้าเราภาวนาแล้วใจเราว่างสว่างมีความสุขอยู่อย่างนี้ ถ้าเรามีความแยบคายเราจะรู้ว่าต้องมีอะไรผิด หลวงพ่อเคยเจอมาด้วยตัวเองอันนี้ ภาวนาแล้วจิตมันเคลื่อนออกไปข้างนอก ไม่เข้าฐาน มันเคลื่อนออกจากฐานไปนิดหนึ่ง ไปอยู่ข้างหน้านี่ แล้วก็ว่างสว่างอยู่อย่างนั้น รู้สึกดีจังเลย จิตนี้สว่างว่างสงบสบายมีแต่ความสุข กิเลสอะไรไม่เห็นมีเลย ที่จริงมีแต่ไม่เห็น
กิเลสอะไรตอนนั้น เรียกว่ารูปราคะ อรูปราคะ มีราคะอยู่ พอใจในความสุขความสงบของสมาธิแล้วไม่เห็น อาศัยว่ามีโยนิโสมนสิการ พอจิตมันไปสงบมันไปว่างอยู่นานอย่างนี้ หลวงพ่อก็เริ่มพิจารณา พระพุทธเจ้าบอกจิตไม่เที่ยง ทำไมจิตของเราเที่ยง พระพุทธเจ้าบอกว่าจิตเป็นทุกข์ ขันธ์ 5 เป็นทุกข์ รวมทั้งวิญญาณขันธ์หรือจิตนี่เป็นทุกข์ ทำไมจิตเรามีแต่ความสุข จิตของเราเที่ยงสว่างไสวสงบสบายอยู่อย่างนั้น แล้วก็มีแต่ความสุข จิตนี่บังคับได้ พระพุทธเจ้าบอกจิตเป็นอนัตตา แต่ทำไมจิตเราบังคับได้ นึกอยากให้สงบเมื่อไรก็ทำ กำหนดปุ๊บลงไปก็สงบแล้ว สบายว่างๆ สว่าง
มันผิดที่ตรงไหน มีโยนิโสมนสิการรู้ว่าตรงนี้มันไม่ตรงกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน ไม่ตรงกับในพระไตรปิฎก ท่านพูดถึงขันธ์ 5 เป็นทุกข์ ในขันธ์ 5 ก็มีวิญญาณขันธ์คือตัวจิต มันเป็นทุกข์ แล้วทำไมเราดูไปแล้วมันเที่ยง ทำไมมันสุข ทำไมมันบังคับได้ มันต้องผิด มันต้องมีอะไรผิดแล้วที่เราปฏิบัติอยู่ อาศัยความสังเกต ค่อยๆ สังเกตไป สังเกตไป รู้ว่าผิดแต่ไม่รู้ว่าผิดตรงไหน ดูไม่ออก
พอดีขึ้นไปเจอหลวงตามหาบัวตอนนั้น เข้าไปกราบท่านไปขอโอกาส บอกพ่อแม่ครูอาจารย์ผมขอกราบถามธรรมะ ท่านบอกเดี๋ยวก่อนๆ เรายังไม่ว่าง ท่านกำลังควบคุมพระจัดศาลาจะฉันข้าวให้ ท่านเป็นคนเสียงดังโว้กว้ากๆ นั่นเป็นจริตนิสัยของท่าน งามนะไม่ใช่ไม่งาม แล้วก็มีสติไม่ใช่ขาดสติเลย แต่วาสนาของท่านเป็นอย่างนั้นเอง โว้กว้ากๆ เสียงดัง ดุพระนั้นดุองค์นี้ วางโน้นไม่เรียบร้อยอะไรอย่างนี้ ว่าๆๆ
พอท่านดุได้ที่แล้ว รู้สึกพอใจแล้ว ท่านก็หันมาถามว่าอย่างไรมีอะไร กราบเรียนท่านบอก “พ่อแม่ครูอาจารย์ให้ผมดูจิต ผมก็ดูจิต แต่ทำไมมันไม่พัฒนา ผมรู้สึกว่ามันไม่พัฒนาเลย” ท่านมองหน้าปราดท่านตอบเลย บอก “ที่ว่าดูจิตดูไม่ถึงจิตแล้ว ต้องเชื่อเรา ตรงนี้สำคัญเราผ่านมาด้วยตัวเราเอง อะไรๆ ก็สู้บริกรรมไม่ได้” พอท่านพูดอย่างนี้หลวงพ่อก็ ท่านให้บริกรรม ก็กราบท่าน ถอยออกมาห่างท่านสัก 3 เมตร 2-3 เมตร นั่งพิงลูกกรงระเบียงแล้วก็พุทโธๆๆ ไป ใจมันไม่ชอบพุทโธ พอท่องพุทโธท่านบอกว่าดีที่สุดเลยพุทโธ เรามาท่องพุทโธใจมันรำคาญ ทำไมมันนั่งคิดอยู่ได้ คิดแต่พุทโธๆ น่ารำคาญ จริตนิสัยมันไม่ชอบอย่างนั้น ก็มาพิจารณาว่าทำไมครูบาอาจารย์จะให้พุทโธ แสดงว่าสมาธิเราไม่พอแล้ว สมถะเราไม่พอ
อาศัยโยนิโสมนสิการสังเกตตัวเองว่ามันต้องผิด แต่ผิดตรงไหนดูไม่ออก ก็อาศัยกัลยาณมิตรอาศัยครูบาอาจารย์บอกให้ว่า เฮ้ย มันผิด แต่ท่านก็ไม่ได้บอกว่ามัน ท่านแค่บอกว่ามันดูไม่ถึงจิตแล้ว ให้ไปบริกรรม เรามาบริกรรมจิตไม่ชอบ ก็นึกได้พิจารณาลงไปท่านให้บริกรรมแสดงว่าสมาธิเราไม่พอ ฉะนั้นหลวงพ่อก็ทำสมาธิทำสิ่งที่ตัวเองถนัด หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ทำอย่างนี้มาแต่เด็ก หายใจไม่กี่ทีจิตก็รวมปุ๊บเข้าฐาน
พอจิตเข้าฐานปุ๊บ ถอยออกมานี่รู้เลยว่า โอ๊ย มันผิดตรงไหน ผิดตรงที่จิตเราออกนอก จิตเราไม่ตั้งมั่น จิตมันไม่ถึงฐาน นี้อาศัยโยนิโสมนสิการ การพิจารณาการสังเกตตัวเองว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันขัดกับคำสอนในพระไตรปิฎกอะไรอย่างนี้ หรือมันขัดกับสิ่งที่ครูบาอาจารย์บอก แล้วก็อาศัยกัลยาณมิตรคือครูบาอาจารย์ที่ท่านมีประสบการณ์มาแล้ว ท่านก็บอกเราง่าย
อย่างถ้าเราภาวนา ทีแรกเราก็ลูบๆ คลำๆ โอ๊ย แต่ละข้อกว่าจะผ่านแต่ละจุดผ่านแต่ละด่านนี่ ยากเย็นแสนเข็ญ แต่พอตรงนี้เราผ่านแล้ว เราเห็นคนอื่นปั๊บเรารู้เลยง่ายนิดเดียวตรงนี้ ทำไมไม่ผ่านสักที มีพระที่วัดเขาภาวนาแล้วจิตมันเข้าไปจมอยู่กับความทุกข์ พอภาวนาไป ภาวนาไป จิตมันจมลงไปในความทุกข์ แล้วมาบอกหลวงพ่อว่าแก้ไม่ได้สักที หลวงพ่อบอกไปแก้มันทำไม ง่ายนิดเดียว จิตมันไปจมลงในความทุกข์ ให้สังเกตเลยจิตมันมีวิภวตัณหา มันไม่ชอบ มันอยากให้ภาวะที่จิตจมลงในความทุกข์หมดไปสิ้นไป
ทำไมมองไม่เห็นตัณหาตัวนี้ ย้อนเข้ามาดูเลยสิว่า จิตอยากให้จิตที่จมในความทุกข์นี้มันจบมันดับ พอรู้ตรงนี้ปุ๊บเห็นเลยว่าจิตมีตัณหามีอยาก พอรู้ทันอยากปุ๊บ ความอยากดับ ภพก็ดับทันทีเลย ภพก็คือสิ่งที่จิตเราปรุงขึ้นมา อย่างจิตมันปรุงภพเข้าไปติดอยู่ในความทุกข์ ภพที่จิตจมอยู่ในความทุกข์นี่นรก นรกในคราบมนุษย์นี่ ทั้งๆ ที่ภาวนามาเรื่อยๆ จิตเข้าไปเกาะ ไปสร้างภพของนรกขึ้นมาในใจเราขณะนี้
แล้ววิธีที่จะผ่านจากภพ ภพเกิดจากตัณหา ฉะนั้นตราบใดที่ยังมีตัณหายังมีความอยากอยู่ ภพมันไม่หายหรอก ให้รู้ทันลงไปสิ จิตไม่ชอบ จิตอยากให้สภาวะที่จมในความทุกข์นี่หมดไปสิ้นไป นี่พอบอกประโยคเดียวนี่ดูปุ๊บก็หลุดเลย จิตก็ถอนจากภพของนรกอันนั้นขึ้นมาเลย ถ้าเราเคยภาวนา เราเคยผ่านมาแล้ว เราเคยเจอมาแล้ว เห็นใครปฏิบัติเราก็ว่าง่ายจะตายไป ง่ายเหลือเกินนิดเดียวเอง เหมือนพลิกแค่นี้เองพลิกมือ แทนที่จะตะลุยสู้ๆๆ บอก พลิกทีเดียวทุกอย่างก็ถล่มลงไปหมดแล้ว
กัลยาณมิตร
ค่อยๆ สังเกต 2 ตัวที่เราจะต้องพัฒนาขึ้นมา ตัวแรกคือโยนิโสมนสิการ เวลาเราภาวนาแล้วสภาวะอะไรเกิดขึ้น สังเกตให้ดีเถอะมันขัดแย้งกับพระไตรปิฎกไหม ถ้ามันขัดกับพระไตรปิฎกให้สำนึกไว้เลยว่าเราต้องทำผิดแล้ว ไม่ใช่พระไตรปิฎกผิด เราผิดตรงไหนต้องดูให้ออก ถ้าดูไม่ออกมีโอกาสถามครูบาอาจารย์มีกัลยาณมิตรก็มีประโยชน์มาก ช่วยย่นเวลาของการปฏิบัติ เพราะครูบาอาจารย์มีประสบการณ์ ท่านเคยเจอมาแล้วเคยผ่านมาแล้ว แก้ง่าย บอกเราสะกิดเรานิดเดียวเราก็พ้นแล้ว แต่ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์บอกต้องใช้โยนิโสมนสิการให้มาก สังเกตไปเรื่อยๆ กิเลสมันทนสติทนปัญญาเราไม่ได้หรอก ค่อยๆ ดู ค่อยๆ สังเกตไป อย่าน้อมใจเชื่อ
ทุกวันนี้ไม่รู้ภาวนาหาอะไรกัน เพี้ยนกันไปมากมายเหลือเกิน คนนั้นก็พระอรหันต์ คนนี้ก็พระอรหันต์ หันไปหันมากันเต็มไปหมด มันเชื่อง่าย ทำไมมันเชื่อ เพราะมันอยากเชื่อ อย่างถ้าเราภาวนาแล้วมีใครมาบอกเรา โอ๊ย ได้โสดาบันแล้ว เราดีใจไหม ดีใจ คนส่วนใหญ่ก็พอใจแล้ว ปลื้มอกปลื้มใจ แล้วไปเจอครูบาอาจารย์ท่านบอก เฮ้ย ไม่ใช่หรอก โกรธ โกรธด้วยซ้ำไปว่าไม่มีความรู้จริง อาจารย์โน้นบอกว่าใช่ อาจารย์นี้บอกไม่ใช่ ระหว่างคนบอกใช่กับคนบอกไม่ใช่ เราจะเลือกเชื่อใคร ใจมันอยากเชื่อใคร เอาเข้าจริงมันก็อยากจะได้ทั้งนั้น นักปฏิบัติ
เพราะฉะนั้นทุกวันนี้กัลยาณมิตรเราต้องระวังให้มาก ไม่ใช่กัลยาณมิตรดีจริงๆ เท่าไรหรอก หลอกให้เราหลงเสียเยอะเลย เพราะฉะนั้นพระไตรปิฎกเป็นของสำคัญเป็นหลัก ต้องดูตัวนี้ การภาวนาของเรานี่สอดคล้องหรือขัดแย้งในหลักของพระไตรปิฎกไหม ดูตัวนี้เป็นสำคัญ ส่วนคนอื่นบอกเรานี่ฟังหูไว้หู ถ้ามี 3 หู ฟังมันหูเดียวไว้ 2 หูเลย นี่เผอิญมี 2 หู ก็เลยบอกฟังหูไว้หู เชื่อไม่ได้หรอก
มีเยอะเลยบอก ทุกวันนี้บอกเป็นพระอรหันต์แล้ว มีอาจารย์เป็นพระอรหันต์ หันไปหันมาอาจารย์ก็บ้าไปแล้ว สึกไปแล้ว ลูกศิษย์ก็เพี้ยนไปแล้ว ต้องมาให้เรานั่งแก้เยอะแยะไปหมด เป็นภาระมากเหลือเกิน ระหว่างสอนคนที่ภาวนาผิดกับสอนคนที่เริ่มต้นใหม่ คนเริ่มต้นใหม่ 10 คน เราสอนยังไม่เหนื่อยเท่าต้องมานั่งแก้คนที่เพี้ยน เพี้ยนหนึ่งคนกินแรงเยอะกว่าจะแก้ได้ หลายเดือนบางที บางคนเป็นปีๆ เลยกว่าจะแก้ตก
เพราะฉะนั้นจับหลักให้แม่นเสียก่อน แล้วก็อย่าไปเชื่อคนง่าย อย่าไปเชื่อง่าย ลำบากมากเลยทุกวันนี้ คนสอนธรรมะเยอะไปหมดเลย สังเกตดูไม่ได้มีครูบาอาจารย์หรือไม่ได้เรียนอะไร มโนเอา คิดๆ เอา แล้วก็ฉันบรรลุแล้ว ฉันก็ออกสอนเลย มีตั้งเยอะตั้งแยะใช่ไหม สุดท้ายอยู่ไม่ได้ เป็นพระก็สึกไปบ้าง เป็นโยมก็ทำผิดศีลผิดธรรมไปเยอะแยะไป เพราะฉะนั้นใครเขาจะบรรลุอะไรก็เรื่องของเขา เรามีกิเลสหรือเปล่า เราดูตัวนี้สำคัญกว่า ถ้าเราภาวนาแล้วเรายังเห็นกิเลสตัวเองได้ เรายังมีทางพัฒนาได้ แต่ถ้าภาวนาแล้วดีเหลือเกิน ไปไม่รอดแล้ว
ทุกวันนี้ที่ผิดมีเยอะหลายแบบเลย พวกหนึ่งฝึกแล้วน้อมจิตให้ว่าง น้อมจิตให้ว่างบางทีมีวิธีน้อมหลายอย่าง พวกหนึ่งไปอ่านหนังสือเซน เวลาใครเคยอ่านหนังสือเซนบ้างมีไหม เวลาอ่านแล้วรู้สึกไหมใจเราแปลกๆ ใจเราโล่งๆ ว่างๆ นึกว่าพระอรหันต์ หันไปหันมาเดี๋ยวก็กิเลสกลับมาได้ แล้วก็ไปเที่ยวสอนกันว่า ไปทำใจว่างๆ อย่าไปยึด อันโน่นก็อย่ายึด อันนี้ก็อย่ายึด ถ้าอยู่ๆ ก็ไปสั่งจิตบอกว่าอย่ายึด อย่ายึด แล้วก็ไม่ยึดได้ ทุกคนก็เป็นพระอรหันต์หมดแล้ว
ทำไมไม่เดินตามเส้นทางที่พระพุทธเจ้าสอน แทนที่จะไปฝึกทำจิตให้ว่าง ทำจิตให้ว่างก็เป็นภพๆ หนึ่ง เป็นภพที่จิตติดในว่าง เรียกติดในอากาสานัญจายตนะ ติดอยู่ในว่างๆ หรือไปเพ่งอยู่ที่ตัวจิต เป็นภพของวิญญาณัญจายตนะ หรือภพไม่เอาอะไรสักอย่างไม่ยึดอะไรสักอย่าง ยึดความไม่ยึดอะไรสักอย่าง นั่นคืออากิญจัญญายตนะ ก็เป็นภพอีกอย่างหนึ่ง หรือภาวนาแล้วน้อมใจเคลิ้มลงไปเกือบจะลืมเนื้อลืมตัวเหลือความรู้สึกอยู่นิดเดียว อันนั้นก็เป็นภพของเนวสัญญานาสัญญายตนะ
มันไม่ผ่านจริง เพราะไปหลงสำคัญผิดว่าพวกอรูปทั้งหลายเป็นพระนิพพาน แล้วก็เอามาสอนกัน มีหลายวิธีพวกหนึ่งไปอ่านหนังสือเซน แล้วใจว่างๆ แล้วก็บอกบรรลุแล้ว เวลาพูดอะไรก็พูดเป็นปรัชญาลึกซึ้งฟังแล้วเคลิ้มดี พวกนี้ไม่ได้ทำสติปัฏฐาน อีกพวกหนึ่งทำสมาธิแล้วน้อมจิตลงไปในความว่าง พวกนี้เข้าอรูปฌานแล้วก็คิดว่าบรรลุพระอรหันต์ บางคนภาวนาไป ภาวนาไป กำหนดจิตไปเรื่อย แล้วก็ทรมานจิตเค้นจิตอย่างรุนแรงให้มันเหนื่อยแสนสาหัส ในที่สุดจิตมันสลบไป มันดับความรับรู้ไป ตัวนั้นพรหมลูกฟัก ไม่ใช่พระอรหันต์อีก นี่จุดที่ผิดพลาดมันเต็มไปหมดเลย ต้องระมัดระวัง บางคนก็สอนดูจิตเดินจิตอะไรต่ออะไรวุ่นวาย เดินไปเดินมาก็ออกนอกลู่นอกทางเพี้ยนไปวุ่นวายมาก
สิ่งที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง 2 ประการ
เพราะฉะนั้นเราจะต้องจับหลักการปฏิบัติให้แม่นยำ สิ่งที่เราจะต้องทำคือสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน พระพุทธเจ้าบอกว่าสิ่งที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง 2 ประการคือ สมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน
สมถกรรมฐานนี้สมาธิ ไม่ใช่ว่านั่งสมาธิแล้วมันจะถูกหลักของสมถกรรมฐาน สมถกรรมฐานจริงๆ แล้วทำไปเพื่อให้จิตตั้งมั่น จิตตั้งมั่นแล้วก็จิตมีพลัง พอจิตตั้งมั่นแล้วมีกำลัง มันจะเดินปัญญาได้ขันธ์มันจะแยกได้ ถ้าจิตเราไม่ตั้งมั่นขันธ์มันไม่แยก อย่างเราไปภาวนาแล้วน้อมจิต มีพระที่วัดเพิ่งมาบวชไปเรียนสมาธิอะไรมา เดี๋ยวก็ต้องกลับไปแก้ต่ออีก นั่งทำจิตอย่างนี้ นิ่ง นิ่งอยู่อย่างนี้ โอ๊ย เห็นแล้วอยากเบิ๊ดกะโหลก ติดอยู่แค่นั้น กี่ปีมันจะเพ่งอยู่แค่นั้น
สมาธิไม่ได้แปลว่าเพ่ง ไม่ได้แปลว่าเพ่ง คำว่าเพ่งตรงกับคำว่าฌาน สมาธิคือความตั้งมั่นของจิต เราจะต้องมาฝึกจิตให้ตั้งมั่น เราจะฝึกจิตให้ตั้งมั่นได้ อาศัยอะไร ไม่ใช่อาศัยบริกรรมหรืออะไร อันนั้นไปทางฌาน สิ่งที่จะทำให้จิตตั้งมั่นมีสัมมาสมาธิคือสัมมาสติ พระพุทธเจ้าบอกว่าสัมมาสติเมื่อทำให้มากเจริญให้มาก จะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์ เมื่อสัมมาสมาธิทำให้มากเจริญให้มาก จะทำให้สัมมาญาณะคือการเจริญปัญญาทำวิปัสสนาบริบูรณ์ สัมมาญาณะเมื่อทำให้มากเจริญให้มาก จะทำให้สัมมาวิมุตติบริบูรณ์
ฉะนั้นเราต้องมีสัมมาสติ การเจริญสติปัฏฐานนั่นล่ะคือบทเรียนที่จะทำให้เราเกิดสัมมาสติ สติปัฏฐานเป็นทางสายเอกเป็นทางสายเดียวเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น เพราะฉะนั้นถ้าบอกว่ามีวิธีบรรลุ อ่านหนังสือแล้วก็บรรลุ ใจว่างๆ ไม่ได้ทำสติปัฏฐาน หรือไปนั่งแล้วก็เพ่งให้นิ่งๆ ให้ว่างๆ อะไรอย่างนี้ นั่นไม่ได้ทำสติปัฏฐาน ฉะนั้นจะทำสติปัฏฐานต้องมีสติ สติทำหน้าที่อะไร สติทำหน้าที่ระลึกรู้ รู้อะไร รู้รูปธรรม รู้นามธรรม ถ้าไประลึกรู้เรื่องราวที่คิด ไม่ใช่แล้ว อันนั้นหลงไปอยู่ในโลกของความคิดแล้ว คนส่วนใหญ่หลงอยู่ในโลกของความคิด
ฉะนั้นเปลี่ยน แทนที่จะหลงไปในโลกของความคิดตลอดเวลา มาอยู่กับโลกของความรู้สึกตัว มีสติรู้สึกร่างกาย มีสติรู้สึกจิตใจของตัวเอง ยากไหม ไม่เห็นจะยากตรงไหนเลย มันยากเพราะไม่ยอมทำ อย่างขณะนี้หายใจออกรู้ยากไหม ขณะนี้หายใจเข้ารู้ยากไหม ไม่เห็นจะยากตรงไหนเลย ขณะนี้นั่งอยู่รู้สึกไหม ยากไหมที่จะรู้ว่าตอนนี้นั่ง ถ้าตรงนี้ยากก็เพี้ยนแล้ว
ธรรมะจริงๆ ไม่ได้เรื่องลึกลับแต่ลึกซึ้ง ลึกซึ้งเพราะเรานึกไม่ถึง เพราะเรานึกไปตามอำนาจของกิเลส ลองทำเจริญสติให้ดี มีสติหายใจออกรู้สึก มีสติหายใจเข้ารู้สึก มีสติยืนรู้สึก เดิน นอน นั่ง นอน รู้สึก มีสติเคลื่อนไหวรู้สึก มีสติหยุดนิ่งรู้สึก คอยรู้สึกในความมีอยู่ของร่างกาย แล้วต่อไปก็จะรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ตรงที่เรารู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกาย ระลึกอยู่จิตไม่วอกแวกไปที่อื่น จิตอยู่ในอารมณ์อันเดียวนี่ จิตสงบอยู่ แล้วจิตไม่คลอนแคลนวอกแวกไป ถ้าจิตเคลื่อนไปปุ๊บหลงไปจากอารมณ์กรรมฐาน รู้ทัน จิตก็จะตั้งมั่นขึ้นมา
ฉะนั้นจิตที่ตั้งมั่นอาศัยกำลังของสติ รู้ทันจิตที่ไม่ตั้งมั่น ง่ายนิดเดียวเท่านี้เอง อาศัยสติรู้ทันจิตที่ไม่ตั้งมั่นคือจิตที่หลงไป ไหลไป หลงไปดู หลงไปฟัง หลงไปคิด หลงไปเพ่ง ฉะนั้นหัดดูไปเรื่อยๆ ถ้าดูจิตได้ดูจิตไปเลย ถ้าดูจิตไม่ได้รู้สึกกายไปก่อน อย่าลืมร่างกาย ร่างกายนี่เหมือนปราการด่านสุดท้ายแล้วที่เราจะปฏิบัติ ของที่หยาบที่สุดแล้ว
เพราะฉะนั้นในสติปัฏฐาน สังเกตไหมท่านเริ่มที่กาย เพราะกายเป็นของหยาบ ดูง่ายไม่ยากหรอก ดูจิตนี่ดูธัมมานุปัสสนานี่ยากมาก ไม่ใช่ดูง่ายๆ ได้ยินว่าหลวงพ่อดูจิตๆ เอะอะจะมาดูจิต ดูไม่ถึงจิต เพราะสมาธิไม่พอ สติไม่พอ มันดูไม่ได้ เพราะฉะนั้นเอาสิ่งที่เราทำง่ายๆ ก่อน ตอนนี้หายใจออกรู้สึก ตอนนี้หายใจเข้ารู้สึก หายใจสักพักหนึ่งหนีไปคิดเรื่องแล้ว ลืมการหายใจ ทีนี้พอเราหายใจจนชิน พอเราลืมหายใจ แป๊บเดียวมันจะกลับมานึกขึ้นได้นี่ลืมหายใจแล้ว
ตรงที่รู้ว่าหลงไป หลงลืมการหายใจ จิตที่หลงจะดับ จิตที่รู้ตื่นเบิกบานตั้งมั่นจะเกิดขึ้นอัตโนมัติ ฉะนั้นจิตรู้นี่ไม่ได้ยากแต่สั่งให้เกิดไม่ได้ อาศัยสติรู้เวลาจิตมันหลง แล้วเราจะเห็นจิตหลงได้ง่ายถ้าเรามีกรรมฐานที่เราเหมาะกับเรา อย่างคนส่วนใหญ่ดูจิตไม่ได้ ใช้กายนี่ล่ะ ง่ายๆ ร่างกายเคลื่อนไหวรู้สึก ร่างกายหยุดนิ่งรู้สึก ร่างกายยืนเดินนั่งนอนรู้สึก ร่างกายหายใจออกหายใจเข้ารู้สึกไปเรื่อยๆ แล้วพอมันลืมร่างกายเรียกมันขาดสติแล้ว มันจะลืมไม่นาน มันเคยรู้สึกกาย พอมันลืมกายไปแป๊บเดียว พอร่างกายขยับมันรู้สึกเองเลย จะรู้สึกขึ้นมาได้เอง ตรงที่มันรู้สึกว่าเมื่อกี้มันหลงไป ขณะนั้นจิตหลงมันดับไปแล้ว จิตรู้ได้เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว
เพราะฉะนั้นหลงแล้วรู้ หลงแล้วรู้ ฝึกไป ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งที่เราถนัด จะดูกายก็ได้ หรือถนัดดูจิตก็ได้ ดูเวทนาก็ได้ แล้วแต่จะถนัด แต่คนรุ่นนี้สมาธิน้อย แล้วจิตใจวอกแวกๆ สมาธิสั้นมากเลย ไปดูจิตดูไม่ทัน จิตมันไว ยกเว้นแต่ว่าบางคนฝึกสมาธิมาแข็งแรงสติว่องไว ไปดูจิตเอาเลย ไม่ต้องมาดูกาย แต่ถ้ายังดูจิตไม่ออก รู้สึกร่างกายไป ทำบ่อยๆ หายใจออกรู้สึก หายใจเข้ารู้สึก ยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึก เคลื่อนไหวหยุดนิ่งรู้สึก รู้สึกไปเรื่อยๆ แล้วเวลามันขาดสติ มันหลง มันลืมร่างกายไป มันจะลืมไม่นาน
หลวงพ่อก็เคยเล่น หลวงพ่อดูจิตมาตั้งแต่แรกแล้ว หลวงปู่ดูลย์ให้ดูจิต พอภาวนาไปช่วงหนึ่ง ใช้เวลา 7 เดือน หลวงปู่บอกว่าเข้าใจการปฏิบัติแล้ว ช่วยตัวเองได้แล้ว พึ่งตัวเองได้แล้ว ไม่หลงแล้ว หลวงพ่อก็ออกไปดูคนอื่นเขาปฏิบัติอย่างไร เข้าไปตามสำนักโน้นสำนักนี้ เข้าไปดู ก็ไปเจอหลวงพ่อเทียน หลวงพ่อเทียนสอนลูกศิษย์อยู่ สอนโยม ลูกศิษย์นั่งเรียนอยู่วันอาทิตย์ที่วัดสนามใน เราก็ไปดูหลวงพ่อเทียน หลวงพ่อเทียนเคลื่อนไหว เคลื่อนไหวไปพูดไป หลวงพ่อเทียนมีสติ ใช้ได้นี่วิธีนี้ ใจก็นึก
หันไปมองลูกศิษย์ ขยับ พวกหนึ่งนั่งคิด เอ ท่านี้แล้วต่อไปท่าไหน นี่คิดเอาแล้ว ท่านี้แล้ว อันไหนแน่ ใจมันหลงไปคิด อันนี้ไม่มีสติ อีกพวกหนึ่งขยับแล้วก็เพ่งอยู่ที่มือ จิตแนบเข้าไปที่มือ เพ่งๆๆ พวกนี้ก็ใช้ไม่ได้ ไม่มีสติ นี่เพ่งลูกเดียวเลย เพ่งอย่างนี้จิตสงบเฉยๆ สงบโง่ๆ อยู่อย่างนั้น ไม่เดินปัญญาหรอก ในขณะที่หลวงพ่อเทียนกระทบอารมณ์แล้วก็มีสติ ขนาดพูดไปขยับตัวไป ไม่หลง หลวงพ่อ เอ้อ วิธีดูกายก็ใช้ได้เหมือนกัน ไม่เคยทำ เห็นท่านขยับปุ๊บ จำได้แล้ววิธีของท่าน
หลวงพ่อก็ไปนั่งใต้ต้นไม้ที่วัดท่านนั่นล่ะ แต่ไม่ไปนั่งรวมกลุ่มกับใคร ไปหลบอยู่ใต้ต้นไม้นั่งขยับ ขยับ 14 จังหวะ รำคาญมันเยอะไป เหลือแค่นี้ เคลื่อนไหวแล้วรู้สึกๆ เคลื่อนไหวแล้วรู้สึก หยุดนิ่งแล้วรู้สึก เคลื่อนไหวแล้วรู้สึก หยุดนิ่งแล้วรู้สึก รู้สึกๆ เล่นอยู่อย่างนี้ อีกวันสองวันเดินอยู่ริมถนน เห็นเพื่อนไม่เจอกันนานแล้ว อยู่คนละฟากถนน ดีใจ ตอนนั้นขาดสติ ดีใจไม่รู้ว่าดีใจ ก็หันซ้ายหันขวาดูว่าไม่มีรถ ตรงนั้นก็ยังขาดสติอยู่ พอเท้าขยับ ก้าวเท้าจะข้ามถนน ร่างกายเคลื่อนไหว เราเคยฝึกร่างกายเคลื่อนไหวแล้วรู้สึก พอเท้าเคลื่อนเท่านั้นเอง สติเกิดเลย เฮ้ย นี่มันหลงไปแล้ว สติเกิดปั๊บ จิตมันตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาเลย
ฉะนั้นทันทีที่สัมมาสติเกิด สัมมาสมาธิเกิดร่วมด้วยเสมอ ฉะนั้นมีสติบ่อยๆ หลงแล้วรู้ หลงแล้วรู้นั่นล่ะ ยิ่งถี่ยิ่งดี บางคนบอกไม่หลงเลย มีผู้หญิงคนหนึ่งตอนนั้นหลวงพ่อบวชใหม่ๆ หลวงพ่อก็สอนเขามานั่งรู้สึกตัวไว้อย่าหลง เขาสะบัดหน้าใส่ “ดิฉันไม่เคยหลงเลย” ทำหน้าอย่างนี้ “ดิฉันไม่เคยหลงเลย” “เออๆ เก่งๆ” เราเห็นแล้ว โอๆ น่ากลัว อาการหนักแล้วช่วยไม่ได้ กรรมใครกรรมมัน ก็ต้องปล่อย
พอจิตตั้งมั่นได้ขันธ์จะแยกอัตโนมัติ
เราฝึกไป ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วจิตเราหลงไปรู้ทัน ไม่ให้ทำกรรมฐานเพื่อให้จิตนิ่ง ทำกรรมฐานเพื่อว่าจิตหลงไปแล้วรู้ ทำกรรมฐานให้จิตนิ่งมันจะไปยากอะไร น้อมจิตเพ่งลงไปในอารมณ์อันเดียวก็นิ่งแล้ว แต่จะฝึกให้จิตรู้ตัวตั้งมั่นขึ้นมานี่อาศัยสติรู้ทันจิตที่หลง แล้วจิตที่ตั้งมั่นจะเกิดขึ้นเอง ค่อยๆ ฝึก ทุกวันๆ ทำไป
แล้วทีแรกเราอาจจะฝึกรู้สึกร่างกายแล้วมีสติ รู้สึกร่างกายแล้วเกิดสติ รู้สึกตัว รู้สึกตัวไปเรื่อยๆ พอความรู้สึกตัวของเราเข้มแข็ง ต่อมาตามองเห็นรูป เห็นสาวงามมาใจเกิดราคะ สติเกิดเอง ไม่ได้เจตนาจะรู้เลยว่าตอนนี้เกิดราคะ มันรู้เอง ฉะนั้นอาศัยขยับเขยื้อนแล้วรู้สึกกายนี่ หลวงปู่มั่นท่านเคยสอน หลวงพ่อไม่ทันท่านหรอก แต่ว่าลูกศิษย์ท่านคือหลวงปู่สุวัจน์ ท่านเคยเล่าให้ฟังว่าท่านไปเรียนกับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นสอนท่านบอก ดูจิตได้ให้ดูจิต ดูจิตไม่ได้ให้ดูกาย ถ้าดูจิตก็ไม่ได้ ดูกายก็ไม่ได้ ให้ทำสมถะ ทำความสงบไป พอมีกำลัง จิตมีสมาธิแล้ว มันจะกลับมารู้สึกร่างกายได้
ดูกายเพื่ออะไร ดูกายเพื่อให้เห็นจิต ดูจิตเพื่ออะไร เพื่อให้เห็นธรรม เพราะธรรมะเกิดที่จิต กุศลเกิดที่จิตใช่ไหม กุศลเกิดที่กายไหม กุศลไม่ได้เกิดที่ร่างกาย กุศลเกิดที่จิต อกุศลก็เกิดที่จิต มรรคผลก็เกิดที่จิต เพราะฉะนั้นการที่เรามีสติรู้ทัน เรียนเข้ามาให้ถึงจิตถึงใจ มันเป็นทางที่ตัดตรงเข้ามา ถ้าเรียนเข้ามาถึงจิตได้ ครูบาอาจารย์ท่านพูดเสมอว่า ถ้าปฏิบัติเข้าถึงจิตถึงใจนี่เป็นทางที่ลัดสั้นมากเลย
แต่ถามว่าผิดหลักสติปัฏฐานไหม ไม่ผิด ลัดสั้นแบบนอกสติปัฏฐานอย่าไปเล่น เสียเวลาแน่นอน ไปทำจิตว่างๆ อะไรอย่างนั้นมันนอกสติปัฏฐานไปแล้ว ฉะนั้นมีสติ รู้สึกกายเคลื่อนไหว รู้สึก ทีแรกก็รู้สึกร่างกายไป แล้วพอจิตมีแรงขึ้นมา พอเกิดอะไรขึ้นในจิตสติมันรู้เอง มันระลึกได้เอง อย่างหลวงพ่อหัดแบบหลวงพ่อเทียน ขยับ ขยับแล้วรู้สึก ขยับแล้วรู้สึก แล้วพอขาดสติ พอเท้าเคลื่อนสติเกิดเอง เฮ้ย หลงไปแล้ว มันจะเกิดรู้สึกตัวขึ้นมา
ฉะนั้นทั้งๆ ที่เริ่มต้นจากการรู้กาย สุดท้ายมันจะเข้ามารู้จิต เข้ามาที่จิตได้อัตโนมัติ แต่อยู่ๆ ไม่มีแรงพอ อยู่ๆ จะไปดูจิต ร้อยละร้อยคือเพ่งจิต จะไปเพ่งจิต ติดว่าง ติดนิ่ง ติดเฉย อันนั้นผิด เพราะฉะนั้นเวลาภาวนาอย่าใจร้อน ถ้าดูจิตได้ก็ดู ดูไม่ได้ก็อย่าฝืน ดูไม่ได้ก็ดูกายไป ร่างกายหายใจออก รู้สึก หายใจเข้า รู้สึก ยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึก เคลื่อนไหวหยุดนิ่ง รู้สึก ทำไปเรื่อยๆ แล้วพอมันหลงปุ๊บมันจะรู้สึกเอง
เราเคยหายใจออกรู้สึกหายใจเข้า รู้สึก พอมันหลงไปคิดเรื่องอื่นมันลืมหายใจ แล้วจังหวะการหายใจเปลี่ยนปุ๊บ สติเกิดเองเลย นี่รู้ทันจิตตัวเองแล้ว รู้ทันจิตที่หลงไปจากกรรมฐาน จิตจะตั้งมั่นขึ้นมาอัตโนมัติ พอจิตตั้งมั่นให้บ่อยๆ จิตจะมีพลัง แล้วขันธ์จะแยก พอจิตตั้งมั่นได้ขันธ์จะแยกอัตโนมัติ ฉะนั้นบอกแยกธาตุแยกขันธ์ บางคนบอกว่าฝึกกรรมฐานแล้วก็แยกธาตุแยกขันธ์ ถามแยกอย่างไร ก็เห็นท้องพองอันหนึ่งท้องยุบอันหนึ่ง อันนั้นไม่ได้แยกธาตุแยกขันธ์ อันนั้นท้องพองท้องยุบมันก็รูปเหมือนกัน แยกขันธ์ได้อย่างน้อยต้องมีจิต
ในขันธ์ 5 4 ขันธ์นี้กับมีวิญญาณขันธ์คือตัวจิต ถ้าเรารู้กายมีจิตเป็นคนรู้ ถ้ารู้เวทนามีจิตเป็นคนรู้ ถ้ารู้สังขารก็มีจิตเป็นคนรู้ เรารู้อย่างนี้ ไม่ว่าจะรู้อะไรก็ต้องมีจิตที่เป็นคนรู้อยู่ อย่างเราฝึกเรื่อยๆ รู้สึกๆๆ พอเราหลงไปปุ๊บแล้วสติเกิด มันรู้สึกเลยร่างกายที่นั่งอยู่ตรงนี้มันไม่ใช่ตัวเรา มันเป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า ร่างกายกับจิตนี่เป็นคนละอันกัน อย่างขณะนี้พวกเราฟังหลวงพ่อเทศน์ จิตของพวกเราจะมีสมาธิขึ้นมา เพราะเวลาหลวงพ่อเทศน์ หลวงพ่อเทศน์ด้วยสมาธิ ไม่ใช่นั่งคิดพูดๆ ไปเรื่อยๆ
ขณะนี้จิตเราฟังธรรมะแล้วจิตเราเกิดสมาธิ ลองรู้สึกที่ร่างกายสิ รู้สึกไหมร่างกายมันนั่งอยู่ ร่างกายพยักหน้ารู้สึกไหม ร่างกายที่นั่งอยู่ไม่ใช่ตัวเรา เป็นของที่จิตไปรู้เข้า ร่างกายที่พยักหน้าไม่ใช่ตัวเรา เป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า ร่างกายที่หายใจออกหายใจเข้าไม่ใช่ตัวเรา เป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า เห็นไหมมันแยกขันธ์ได้ แล้วมันถึงจะเดินปัญญาได้ ฉะนั้นในตำราเขาพูดถึงโสฬสญาณ ญาณ 16 คือการเจริญปัญญา 16
อันที่หนึ่งเรียกนามรูปปริจเฉทญาณ แยกรูปกับนามได้ ร่างกายมันนั่ง นามคือจิตเป็นคนรู้ ร่างกายหายใจ นามคือจิตเป็นคนรู้ รูปนามอย่างนี้ถึงจะเรียกแยกรูปแยกนาม ไม่ใช่รูปพองอันหนึ่งรูปยุบอันหนึ่ง นั่นยังไม่ได้แยกอะไรเลย นั่นเพ่งอยู่ที่ท้อง สิ่งที่ได้คือสมถะนิ่งสงบเฉยๆ เป็นสมถะชนิดที่เพ่งอารมณ์ อยู่ในอารมณ์อันเดียว ไม่เกิดปัญญาหรอก
ค่อยๆ ฝึก ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป ให้การบ้าน ต่อไปนี้ทุกวันแบ่งเวลาไว้เลยฝึกกรรมฐาน เอาที่เราถนัด ถนัดหายใจก็นั่งรู้ ตอนนี้หายใจออก ตอนนี้หายใจเข้า สงบหรือไม่สงบก็ช่างมัน ไม่ได้ฝึกเอาสงบ สงบมันแค่ของแถมเป็นของเล่น จุดสำคัญคือเอาสติ มีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า ฝึกไป ไม่ชอบหายใจก็มีสติ ยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึกไป
ยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึกมันนานไป ไม่ชอบอีก เคลื่อนไหวแล้วรู้สึก หยุดนิ่งแล้วรู้สึก อย่างพยักหน้าอย่างนี้รู้สึก ยิ้มหวานรู้สึก ยิ้มหวาน ร่างกายขยับเขยื้อนอะไรคอยรู้สึกๆ ไป ลองดู ลองทำดู ลองใช้กายนี้ง่าย แล้วพอจิตมีแรงมันจะขึ้นมาดูจิตเอง พอจิตรู้สึกกายไปเรื่อยๆๆๆ พอจิตหลง สติเกิดเอง รู้ว่าหลงแล้ว จิตจะตื่นขึ้นมา พอตื่นบ่อยๆ จิตจะมีพลัง พอจิตมีพลังมันจะทรงตัวขึ้นมาโดยที่เราไม่ได้จงใจ จิตจะตั้งมั่นโดยเราไม่ได้จงใจ ขันธ์จะแตกตัวออกไปมันจะแยก รูปส่วนรูป เวทนาส่วนเวทนา จิตสังขารส่วนจิตสังขาร จิตส่วนจิต จะแยกกัน แล้วแต่ละอันจะสอนไตรลักษณ์เรา
พอแยกขันธ์ออกไปแล้ว ตัวเราไม่มี
รูปก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เวทนาคือความสุขทุกข์ก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ สังขารคือความปรุงดีปรุงชั่วก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ จิตที่รับรู้อารมณ์ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เราก็จะเห็นขันธ์ 5 ทั้งหมดล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ดูไปเรื่อยๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนกระทั่งถึงจุดหนึ่งจิตมันยอมรับความจริงแล้ว ขันธ์ 5 นี้ไม่ใช่ตัวเรา จิตมันยอมรับความจริงได้ ขันธ์ 5 ไม่ใช่เรา ไม่มีเราในขันธ์ 5 ไม่มีเรานอกเหนือจากขันธ์ 5
ถ้ากระทั่งตัวนี้ยังไม่เป็นเรา โต๊ะเก้าอี้จะเป็นเราได้อย่างไร ข้างนอกก็ไม่มีขันธ์ 5 ข้างในนี้ก็ไม่ใช่ขันธ์ 5 เรียนลงไป นี้คือธรรมะระดับพระโสดาบัน เพราะฉะนั้นเราพยายามรู้สึกร่างกายเรื่อยๆ จนกระทั่งจิตมีแรงขึ้นมา หลงแล้วรู้ หลงแล้วรู้ไป ทำกรรมฐานไปที่เราถนัด แล้วจิตมันหลงแล้วรู้ แล้วจิตมันจะมีแรง พอจิตมีแรงขันธ์มันจะแยก พอขันธ์แยกแล้วแต่ละขันธ์ล้วนแต่แสดงไตรลักษณ์ แสดงความไม่ใช่ตัวเราทั้งนั้นเลย
การที่เราแยกสิ่งที่เรียกว่าตัวเราออกเป็นส่วนๆ เป็นวิธีการของพระพุทธเจ้า ท่านเรียกว่า “วิภัชชวิธี” วิภัชชวิธีนี่เป็นวิธีการในศาสนาพุทธเราที่จะเรียนรู้ความจริง พอเราอย่างนี้เรารู้สึกมีตัวเราจริงๆ ทีนี้พอเราหัดแยก เราเห็นร่างกายก็อันหนึ่ง จิตก็อันหนึ่ง เราจะเห็นร่างกายไม่ใช่เราแล้ว จิตเป็นคนรู้ ยังหลงว่าจิตเป็นเราอยู่ เห็นเวทนาสุขทุกข์ไม่ใช่เรา จิตก็เป็นคนรู้อีก เห็นสังขารความปรุงดีปรุงชั่ว จิตก็เป็นคนรู้อีก สังขารก็ไม่ใช่เรา แล้วต่อไปมันจะเห็นจิตเองก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์
จิตเองก็ไม่เที่ยง เดี๋ยวก็เป็นจิตผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้คิด เดี๋ยวก็เป็นผู้เพ่ง เดี๋ยวก็เป็นผู้ไปดูรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ฉะนั้นขันธ์แต่ละขันธ์มันแตกตัวออก แล้วแต่ละขันธ์จะสอนเราว่าไม่มีตัวตน อันนี้คล้ายๆ กับเราเห็นรถยนต์หนึ่งคัน คนทั่วไปพอเห็นรถยนต์ก็ อ๋อ นี้ยี่ห้อนี้ ยี่ห้อนี้ นี้รถไฟฟ้าเดี๋ยวก็ระเบิดแล้วอะไรอย่างนี้ คิดไปโน่น
ถ้าเราเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า เราเห็นรถหนึ่งคัน เราคิดว่ารถมีจริง เราลองถอดลูกล้อออก ลูกล้อเป็นรถยนต์ไหม ลูกล้อไม่ใช่รถยนต์ ถอดเอากันชนออกไป กันชนก็ไม่ใช่รถยนต์ ถอดเอาเบาะออกไป เบาะก็ไม่ใช่รถยนต์ เอาแบตเตอรี่ออกไป แบตเตอรี่ก็ไม่ใช่รถยนต์ นี่แยกๆๆๆ ไปเรื่อยๆ สุดท้ายรถยนต์หายไป ฉะนั้นสิ่งที่เป็นรถยนต์ก็คืออะไหล่จำนวนมากมารวมกัน ประกอบกันขึ้นมา ก็เลยเกิดความเป็นรถยนต์ขึ้นมา
ตัวเรานี้ก็เหมือนกัน เรานี้นี่ตัวเรา นี่ตัวเรา แต่ถ้าเราสามารถแยกขันธ์ออกมาได้เรียกว่าวิภัชชวิธี จับแยกเข้าไป กายส่วนกาย เวทนาส่วนเวทนา สัญญาความจำได้หมายรู้ส่วนหนึ่ง สังขารความปรุงดีปรุงชั่วส่วนหนึ่ง จิตที่เป็นคนรู้เป็นอีกส่วนหนึ่ง พอแยกได้แล้ว แต่ละส่วนจะไม่มีเรา ร่างกายนี่สติเราระลึกอยู่ จะไม่รู้สึกว่านี่คือตัวเรา จะไม่รู้สึก
หลวงพ่อเคยเล่นตอนเด็กๆ เล่นวิ่งไล่จับกับเพื่อน กติกาก็คือใครถูกจับตัวได้คนนั้นแพ้ ต้องเป็นคนไล่ พอถึงเขาก็นับ 1-2-3 ก็วิ่งกัน หลวงพ่อไม่วิ่ง ไม่วิ่ง เดินสบายๆ คนที่เป็นคนไล่ก็โดดจับ จับหลวงพ่อเลย มันดึงมือไว้เลย จับได้แล้ว จับตัวได้แล้ว บอก เฮ้ย นี่ไม่ได้จับตัว นี่มันจับมือ จับแขน นี่ก็แขน ไม่ใช่ตัว มันก็ชักงง ตอนนั้นหลวงพ่อไม่กี่ขวบหรอก แล้วเสร็จแล้วมันก็เลยรวบ รวบทั้งตัวเรา รวบเอว จับตัวได้แล้ว เฮ้ย นั่นเอว มันสรุปว่าอย่างไรรู้ไหม ไอ้ขี้โกง หนอย มันไม่รู้จักปรมัตถธรรม
ทำไมเล่นอย่างนี้ได้ตั้งแต่เล็กๆ ของมันเคยเจริญปัญญามาแล้ว มันเคยแยกขันธ์มาแล้ว พอแยกขันธ์ออกไปแล้วตัวเราไม่มี ฉะนั้นสะสมของเราไว้ วันนี้บางคนอาจจะเรียนยากบางคนเรียนง่ายก็ไม่เป็นไร ตั้งอกตั้งใจรักษาศีล 5 ข้อไว้ ต้องรักษา แล้วก็พยายามมีสติไว้ ทำกรรมฐานไปที่เราถนัด รู้ลมก็ได้ รู้ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน ก็ได้ เคลื่อนไหวหยุดนิ่งก็ได้
หรืออย่างหลวงพ่อถนัดดูจิต หลวงพ่อดูจิตเลย จิตมีโทสะรู้ว่ามีโทสะ จิตไม่มีโทสะรู้ว่าไม่มีโทสะ ตัดเข้ามาที่จิตเลยก็ได้ ต่อไปก็เห็นลึกเข้าไปอีก จิตมีราคะก็รู้ ไม่มีราคะก็รู้ จิตหลงก็รู้ จิตไม่หลงก็รู้ จิตมีสมาธิก็รู้ จิตไม่มีสมาธิก็รู้ จิตรวมลงไปก็รู้ จิตไม่รวมลงไปก็รู้ จิตวางจิตลงไปก็รู้ จิตหยิบฉวยจิตขึ้นมาก็รู้ นี่เรียนจากการดูที่จิตตรงๆ เลย ก็เห็นจิตมันหลากหลายขึ้นมา สุดท้ายเราก็รู้จิตไม่มีตัวเรา ไม่มีตัวเราในจิต จิตก็เป็นแค่ธรรมชาติอันหนึ่ง
ฉะนั้นฝึกไป ค่อยๆ แยกขันธ์ไป มีสติรู้สึกไป ทีแรกแยก 2 อันพอ ไม่ต้องแยก 5 อัน ร่างกายกับจิตคนละอันกัน ร่างกายหายใจจิตเป็นคนรู้ ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน จิตเป็นคนรู้ ร่างกายเคลื่อนไหวหยุดนิ่งจิตเป็นคนรู้ รู้ไปเรื่อยๆ ต่อไปก็เห็นมีความสุขความทุกข์แทรกเข้ามาในร่างกาย สุขทุกข์ก็ไม่ใช่ร่างกาย แล้วก็ไม่ใช่จิต นี้ขันธ์มันกระจายมากขึ้น แล้วตัวร่างกายถ้าจิตทรงสมาธิมันแตกออกไปอีก ร่างกายนี่แตกออกเป็นธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม ออกไป ดินไม่ใช่คน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา อันนี้เป็นการเดินปัญญาต่อไปเรื่อยๆ ค่อยๆ ดูไป
บางคนดูอย่างหยาบก็ได้ธรรมะ บางคนดูละเอียดถึงจะได้ธรรมะ แล้วแต่จริตนิสัย ฉะนั้นไม่ใช่ทุกคนต้องดูละเอียดยิบ ตรงที่เราดูได้ฝึกของเราไป ยากไหม ยากไม่ยากก็ต้องทำล่ะ วันนี้ยาก วันหน้าง่าย ถ้าวันนี้ยากแล้วก็ท้อใจไม่สู้ ชาติหน้ายากกว่านี้อีก เพราะจิตเรามีธรรมชาติไหลลงต่ำ เราปล่อยจิตให้หลงโง่อยู่ตลอดเวลา ชาติหน้าโง่กว่านี้อีก เข้าใจธรรมะยากกว่านี้อีก ฉะนั้นชาตินี้มีโอกาสได้ยินได้ฟัง เรื่องการเจริญสติปัฏฐาน เรื่องอริยสัจ เรื่องไตรลักษณ์ เรื่องขันธ์ 5 อายตนะ 6 มีโอกาสได้ยินธรรมะอย่างนี้แล้ว อย่าละเลย ลงมือปฏิบัติเสียตั้งแต่วันนี้
เมื่อก่อนหลวงพ่อเคยสอนลูกศิษย์อยู่ว่า ลงมือปฏิบัติตั้งแต่ตอนนี้ ก่อนที่รอยเท้าของครูบาอาจารย์จะหายไป ถึงวันที่เราไม่เห็นร่องรอยแล้วนี่ ยาก ขนาดเดินตามรอยเท้าของพระพุทธเจ้า เดินตามเท้ารอยครูบาอาจารย์ ยังยากเลย ถ้าไม่มีร่องรอยให้ดูเลย ยากมาก ถ้าไม่ใช่พระปัจเจกพุทธเจ้าไปไม่รอด แล้วคนส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นพระปัจเจกหรอก มีแต่พระพุทธเจ้าเยอะไปหมดเลย พระอรหันต์เต็มบ้านเต็มเมืองเลย หันไปหันมา อย่าโง่ ดูที่กิเลสของเราสำคัญ รู้ตัวนี้ไว้ วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้
เป็นพระลำบาก รับนิมนต์ไว้แล้วป่วยก็ต้องฝืนมา เห็นพวกเราตาแป๋วๆ ก็เห็นใจ เห็นอกเห็นใจ คิดถึงสมัยที่เที่ยวแสวงหาครูบาอาจารย์ เที่ยวแสวงหาธรรมะ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย อาศัยบุญ ตอนเด็กๆ ครูบาอาจารย์องค์แรกที่หลวงพ่อเข้าไปวัดท่าน ท่านพ่อลี ท่านก็ภาวนาดี พอจะมาเจริญปัญญา ครูบาอาจารย์องค์แรกที่เข้าไปหาคือหลวงปู่ดูลย์ ในขณะที่บางคนหาอาจารย์นี้ปาราชิก หาอาจารย์นี้มีเมียไปแล้ว อันนี้โกงเงินวัดไปแล้ว ได้อาจารย์อย่างนี้ตลอด
อย่าเชื่อง่าย อย่าเชื่อง่าย ใครเขาดีก็โมทนากับเขา แต่อย่าเชื่อ ไม่อย่างนั้นจะโดนเขาหลอก พระอรหันต์จริงๆ มีไม่มาก พระอรหันต์หิวเยอะ หิวทั้งวัน อยากได้โน้นอยากได้นี่ หลอกเรา พวกหิวพระอรหันต์เลยตกเป็นเหยื่อ อย่าโง่ ไม่มีทางลัด ไม่มีฟลุก ทางพ้นทุกข์มีทางเดียว คือการเจริญสติปัฏฐาน มีสติ ถ้าพลาดจากหลักนี้พลาดแล้ว เสียงหมดแล้ว ขอให้ญาติโยมทุกคนขยันภาวนา ให้พรแล้วนะนี่
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
16 มีนาคม 2568