ไม่มีทางลัด

การปฏิบัติธรรมจับหลักให้แม่นๆ แล้วก็อดทนพากเพียรทำไป ทางลัดไม่มี ทางฟลุกๆ ไม่มี ทางเดียวเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น คือการเจริญสติปัฏฐาน พระพุทธเจ้าบอกเป็นทางสายเอก เป็นทางสายเดียวเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น ทุกวันนี้มีการเผยแพร่อะไรกันวุ่นวายไปหมด ส่วนใหญ่ก็จะโชว์ว่าเป็นทางลัด ทางลัดไม่มีหรอก มีแต่ทางหลง

ธรรมะเรียนไม่ได้ด้วยการคิดเอา เรียนไม่ได้ด้วยการอ่าน การฟัง จะเข้าใจได้ต้องลงมือปฏิบัติ เจริญสติจริงๆ ถึงจะทำได้ มันก็มีเป็นช่วงๆ คนเสนอทฤษฎีทางลัดอะไรต่างๆ มีอยู่เรื่อยๆ อย่างยุคหนึ่งเราเห่อเรื่องเซนกัน เซนเอามาจากจีนบ้าง เอามาจากญี่ปุ่น เอามาจากเวียดนาม คิดว่าเซนเป็นทางลัด เซนที่เข้ามาเมืองไทยมันไม่สมบูรณ์ ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องคิดเอา เรื่องใช้ความคิดเอา ในขณะที่เซนดั้งเดิม คำว่า “เซน” คือคำว่า “ฌาน” เขาปฏิบัติกันจริงจัง เขาไม่ได้มานั่งพูดๆ อะไร แล้วก็บรรลุกันง่ายๆ ก็ต้องฝึกเข้าสมาธิ ฝึกอะไรกัน

 

การจะปฏิบัติให้พ้นทุกข์
ต้องสมบูรณ์พร้อม ศีล สมาธิ ปัญญา

เมื่อ 40 กว่าปีก่อน ครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง มีคนไปถามท่านว่าเซนเป็นทางลัดไหม ท่านบอกว่ามันไม่ได้หรอก การจะปฏิบัติให้พ้นทุกข์ มันต้องสมบูรณ์พร้อม ศีล สมาธิ ปัญญา ตำราเซนทั้งหลายที่หลุดเข้ามาเมืองไทย มันเป็นเรื่องปัญญา ไม่ได้มีเรื่องศีล เรื่องสมาธิอะไร อย่างอิกคิวซัง เคยได้ยินชื่อใช่ไหม อันนั้นเป็นอาจารย์เซนคนหนึ่ง บอกได้ยินอีการ้องเลยบรรลุ บรรลุ แต่ว่าก็อยู่กับโสเภณี ก็ไม่ได้ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่ได้อะไร ถามว่าพระอรหันต์ครองเรือนอย่างนั้นได้ไหม ทำไม่ได้ จิตมันไม่อำนวยแล้ว ไม่เอื้อที่จะให้ครองเรือนได้จริง

ถ้าเราภาวนาจนมันแตกหัก ข้ามวัฏฏะได้จริง ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกระทั่งในร่างกาย น้ำอสุจิอะไรจะเหือดแห้งไป แล้วจะไปมีลูกมีเมียอะไรมันเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นเราอย่าไปเห่อเรื่องทางลัด ทางพ้นทุกข์มีทางเดียวคือการเจริญสติปัฏฐาน การเจริญสติปัฏฐานในเบื้องต้นทำให้เกิดสติ เบื้องปลายทำให้เกิดปัญญา เห็นไหมเป็นเรื่องของสติ เรื่องของปัญญา ไม่ใช่เรื่องนั่งคิดธรรมะแล้วก็เพลินๆ มีความสุขไป ก่อนหลวงพ่อจะเจอหลวงปู่ดูลย์ หลวงพ่อก็อ่านหนังสือเซน เวลาอ่านใจเราก็โล่ง ว่าง สบาย มีความสุข รู้สึกนี้เป็นเส้นทางที่ดี ง่ายจังเลย หรือบางทีรู้สึกใจว่างๆ ไม่มีกิเลส

ฉะนั้นเวลาภาวนาก็น้อมใจเข้าหาความว่าง บอกน้อมเข้าหาพระนิพพาน ถ้าน้อมด้วยการคิดๆ เอามันไม่ได้จริงหรอก มันได้แค่หลอกตัวเอง มีการน้อมใจอีกแบบหนึ่ง คือน้อมใจเข้าไปทรงอยู่ในอรูปฌานที่สามชื่ออากิญจัญญายตนะ เป็นสภาวะที่จิตไม่จับทั้งจิต ไม่จับทั้งอารมณ์ ไม่ยึดอะไร ไม่เกาะอะไร ถามว่ายึดอะไรไหม ยึด ยึดความไม่มีอะไร ฉะนั้นอย่างภาวนาแล้วบอกโน้นก็ไม่เอานี้ก็ไม่เอา ไม่ยึดถืออะไร มันก็ยึดถือความไม่เอาอะไรนั่นล่ะ มันพ้นไม่ได้จริงหรอก

จิตเราจะหมดความยึดถือได้ เมื่อรู้แจ้งแทงตลอดในความเป็นจริงของรูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย รูปไม่ใช่ของดีของวิเศษ รูปนี้คือตัวทุกข์ นามธรรมทั้งหลายกระทั่งตัวจิต ก็ไม่ใช่ของดีของวิเศษ มันคือตัวทุกข์ รู้ทุกข์แจ่มแจ้งถึงจะละสมุทัย ละความอยาก ละความยึดได้ พอจิตหมดความอยาก หมดความดิ้นรน ก็เรียกว่าเราละสมุทัยได้ เพราะเรารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง ทันทีที่ละสมุทัยได้ นิโรธคือพระนิพพานก็ปรากฎขึ้นต่อหน้าต่อตาเรา จะไม่มีการน้อมจิตเข้าไปสู่พระนิพพาน

ถ้าคิดว่ายังต้องน้อมจิตเข้าไปอยู่กับนิพพาน นิพพานจอมปลอมแล้ว เมื่อก่อนหลวงพ่อก็ทำผิด อ่านหนังสือเซนแล้วใจว่างๆ ก็พยายามฝึกให้ใจว่างๆ ก็เข้าสมาธิ ที่สุดแล้วก็ไม่จับทั้งจิต ไม่จับทั้งอารมณ์ ไม่จับอะไรเลย ร่างกายนี้หายไป โลกทั้งโลกก็หายไป ทุกสิ่งทุกอย่างหายไปหมดเลย เหลือรู้อยู่อันเดียว ว่างๆ อยู่อย่างนั้น ไม่คิด ไม่นึก ไม่ปรุง ไม่แต่ง ในขณะนั้นไม่มีเวลา ไม่มีกลางวัน ไม่มีกลางคืน แล้วก็คิดว่า โอ้ อยู่ตรงนี้นานๆ ไปคงบรรลุพระอรหันต์

ต่อมาพอภาวนาไปเรื่อยๆ ก็สังเกต อาศัยโยนิโสมนสิการสังเกตเอา เรายังแต่งจิตให้ว่าง แต่งจิตให้ว่างทำได้หลายอย่าง อย่างไปอ่านหนังสือเซนแล้วใจว่างๆ นั่นก็แบบหนึ่ง แล้วเข้าสมาธิแล้วมันว่าง ก็ไปอีกอย่างหนึ่ง คนละอย่างกัน แต่มันดูคล้ายๆ กัน มันว่างๆ เสร็จแล้วก็นึกได้ว่ามันไม่ใช่ อันนี้เรายังแต่งอยู่ เราน้อมจิตเข้าหาความว่าง น้อมเข้าไปหาความไม่มีอะไรเลย พอดีมีโอกาสขึ้นไปกราบหลวงปู่เทสก์ ตอนนั้นหลวงปู่ดูลย์สิ้นไปแล้ว ไปกราบเรียนหลวงปู่บอกว่า “ผมภาวนา ไม่ยึดทั้งจิต ไม่ยึดทั้งอารมณ์ จิตก็รวมลงไปในความว่าง ผมสงสัยว่ามันเป็นสมถะ”

ท่านบอกมันเป็นสมถะ ท่านยืนยันว่าเป็นสมถะ แต่ท่านบอกมันเป็นสมถะชนิดที่ไม่ค่อยมีใครเล่นแล้ว ให้เล่นไว้ ให้รู้จักไว้ เพราะว่ายุคนั้นไม่มีคนทำแล้ว สมาธิแปลกๆ อะไรพวกนี้ สมาธิมีเยอะมาก หลากหลายมหาศาลเลย มีวิธีการต่างๆ มากมาย นี้พอครูบาอาจารย์ท่านบอกอย่างนั้น หลวงพ่อก็ ท่านให้ฝึกไว้ เราก็ฝึก ฝึกจิตอยู่กับความไม่มีอะไรเลย ฝึกไปช่วงหนึ่งไปเจอครูบาอาจารย์อีกองค์ ท่านให้พระมาเรียกไป

หลวงพ่อไม่รู้จักท่าน ท่านมีอภิญญา มีฤทธิ์มาก รู้อดีต รู้อนาคต รู้อะไรนี้เยอะ เป็นลูกศิษย์หลวงปู่ชอบ ชื่อหลวงปู่บุญจันทร์ เรียกไปถึง ท่านก็บอกว่า “ภาวนาอย่างไร” เล่าให้ท่านฟัง ภาวนาแล้วไม่ยึดอะไรเลย ไม่ยึดอะไรสักอย่าง ท่านก็ดุเอา “นิพพานอะไรมีเข้ามีออก” ถูกท่านดุเอา 2 รอบ รอบแรกท่านดุ “เฮ้ย นิพพานอะไรมีเข้ามีออก ไง จะทำอย่างไรอีก” ก็คิดว่าท่านฟังสำเนียงเราไม่ออก เพราะหลวงพ่อก็ฟังสำเนียงท่านไม่ค่อยออกเหมือนกัน ก็เล่าให้ท่านฟังซ้ำ “ไม่ยึดทั้งจิต ไม่ยึดทั้งอารมณ์ อยู่กับความว่าง”

ท่านตวาดครั้งที่สอง “เฮ้ย นิพพานอะไรมีเข้ามีออก” จิตมันทิ้งเลย น้อมจิตไปอยู่ในความว่างอะไรนี้ เรื่องไร้สาระทั้งนั้นเลย เป็นเรื่องของสมถะ ไม่ได้ทำให้เราบรรลุพระอรหันต์ได้หรอก ถ้าต้องการบรรลุมรรคผล ไม่มีทางสายอื่น นอกจากเอกายนมรรค ทางสายเอก ทางสายเดียวคือการเจริญสติปัฏฐาน 4 นี้การจะเจริญสติปัฏฐานทำอย่างไร ต้องเรียน ต้องฝึก จะเรียนสติปัฏฐาน ไม่ใช่นั่งคิดเอา แต่ต้องมีสติ

 

ทางสายเดียวคือการเจริญสติปัฏฐาน 4

สติเป็นองค์ธรรมที่ทำหน้าที่ระลึกรู้ ถ้าเป็นสติธรรมดา ก็เป็นองค์ธรรมที่ระลึกรู้อารมณ์ที่เป็นกุศล แต่สติปัฏฐานนั้น สติระลึกรู้รูปธรรมนามธรรม ไม่ใช่สติระลึกรู้อารมณ์ที่เป็นกุศล อย่างอยากทำบุญ อยากใส่บาตรอะไรอย่างนี้ จิตเป็นกุศล มีสติ แต่ไม่ใช่สติปัฏฐาน เป็นสติธรรมดา สติปัฏฐานต้องเป็นสติที่ระลึกรู้กาย รู้เวทนา รู้จิต รู้ธรรม มี 4 หมวดใหญ่ๆ กาย เวทนา จิต ธรรม ใน 4 หมวดใหญ่ๆ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กายกับเวทนาเหมาะกับคนเล่นฌาน เหมาะกับพวกสมถยานิก เหมาะกับพวกตัณหาจริต

จิตกับธรรมเหมาะกับวิปัสสนายานิก เดินปัญญาไปอย่างถูกต้อง แล้วสมาธิเกิดตามมา อาศัยสติระลึกรู้จิตใจตัวเองไปเรื่อยๆ เดี๋ยวสมาธิมันเกิดขึ้นเอง แต่ถ้าจะทำกาย ทำเวทนา ควรจะเข้าฌานก่อน เข้าสมาธิ ถ้าจิตทรงฌานแล้วมาดูกายปุ๊บ กายจะแตกตัวออก กลายเป็นธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ตั้งอยู่ในช่องว่างคืออากาศธาตุ มีสิ่งที่เป็นตัวรับรู้คือวิญญาณธาตุ มันจะแตกกระจายออกไป

แต่ถ้าเราไม่มีกำลังสมาธิพอ เรามาดูกายมันก็ได้แค่พื้นๆ ถามว่าได้ผลไหม ก็ได้เหมือนกัน อย่างเราเห็นร่างกายหายใจออก ร่างกายหายใจเข้า ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน อันนี้เราไม่ได้มีสมาธิระดับฌาน ร่างกายมันไม่แตกออกเป็นธาตุให้ดู มันก็เห็นกลุ่มนี้ ก้อนนี้มันหายใจออก ก้อนนี้หายใจเข้า ก้อนนี้ยืน เดิน นั่ง นอน เห็นอย่างนี้ได้ไหม ก็ได้อยู่ แต่ว่ามันไม่เต็มภูมิของการดูกาย

ถ้าเต็มภูมิของการดูกาย กายมันจะสลายออกไป กลายเป็นธาตุ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เบื้องต้นเห็นเป็นธาตุดิน น้ำเลือด น้ำหนอง น้ำลาย น้ำปัสสาวะ เบื้องต้นเห็นเป็นธาตุน้ำ แต่พอจิตเราทรงสมาธิจริงๆ ผมเส้นเดียวก็มีทั้งดิน น้ำ ไฟ ลม ในน้ำปัสสาวะเราก็มีทั้งดิน น้ำ ไฟ ลม มันจะเห็นธาตุมันแตกตัวออกมา กระทั่งในผมเส้นเดียวก็มีธาตุ 4 ไม่ใช่มีแต่ธาตุดิน ความละเอียด ความลึกซึ้งของธรรมะมันเป็นลำดับๆ ไป

ถ้าเราไม่ทรงฌาน เราเห็นไม่ได้อันนี้ หรืออย่างถ้าเราไม่ได้ทรงฌาน แล้วเราไปดูเวทนา เจริญเวทนานุปัสสนาทางกาย เดี๋ยวก็สติแตก เรานั่งนิ่งๆ ไม่กระดุกกระดิกโต้รุ่งเลย นั่งอย่างนี้ เจ็บปวดแสนสาหัส ถ้าจิตไม่ได้ทรงฌานมันทนไม่ไหว เดี๋ยวก็คลุ้มคลั่งไป แต่ถ้าจิตทรงฌานนั่งไป มันก็จะเห็นร่างกายก็อันหนึ่ง ความเจ็บปวดก็อันหนึ่ง จิตที่เป็นคนรู้ก็อันหนึ่ง ขันธ์มันแตกตัวกระจายออกไป แล้วมันก็จะเห็นตัวเวทนา ตัวทุกข์ทั้งหลายที่ในกายนี้ เกิดๆ ดับๆ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เดินปัญญาอย่างนี้ ยาก ถ้าไม่ทรงสมาธิจริงๆ ไปดูเดี๋ยวสติแตก

เพราะฉะนั้นกายกับเวทนา จะทำได้ดีจิตต้องทรงสมาธิได้อย่างลึกซึ้ง ไม่อย่างนั้นก็ดูแบบคร่าวๆ ดูคร่าวๆ ก็ใช้ได้เหมือนกัน อย่างดูร่างกาย เราเห็นร่างกายหายใจออก เห็นร่างกายหายใจเข้า ถ้าปัญญามันเกิด มันจะเห็นร่างกายที่หายใจออกไม่ใช่เรา ร่างกายที่หายใจเข้าไม่ใช่เรา เห็นอย่างนี้ก็ใช้ได้ เห็นร่างกายที่ยืน เดิน นั่ง นอน ร่างกายที่ยืนไม่ใช่เรา ร่างกายที่นั่ง ที่นอน ไม่ใช่เรา ร่างกายที่เดินไม่ใช่เรา ร่างกายทั้งหมดก็ไม่เป็นเรา อันนี้ดูกายแบบง่ายๆ สำหรับคนซึ่งไม่ได้ฌาน ดูแบบไม่ลึกซึ้งมาก แต่ถามว่าล้างกิเลสได้ไหม ล้างได้ แต่ก็จะไม่มีฤทธิ์มีเดชอะไรกับใครเขาหรอก ก็ล้างกิเลสเหือดแห้งไปเฉยๆ

หรือดูเวทนา เมื่อกี้บอกแล้วถ้าดูเวทนา ถ้าสมาธิไม่พอเดี๋ยวสติแตก แต่เวทนาอีกชนิดหนึ่ง เวทนาทางใจ ไม่ต้องใช้สมาธิเยอะ เป็นดูเวทนาทางใจจะดูง่ายๆ ดูด้วยใจธรรมดา อย่างที่พวกเรามีนี่ล่ะ ยุคของคนสมาธิสั้น ไม่เหมือนยุค 30 – 40 ปี 50 ปีก่อน คนทรงสมาธิเยอะมากเลย ยุคนี้แทบหาตัวไม่เจอ คนที่ทรงสมาธิได้จริงๆ เพราะฉะนั้นเราก็เป็นพวกสมาธิสั้น เราก็ทำกรรมฐานเท่าที่คนสมาธิสั้นจะทำได้ ดูกายก็ดูมันง่ายๆ ไป เห็นกายที่หายใจออกถูกรู้ ไม่ใช่เรา กายที่หายใจเข้าถูกรู้ ไม่ใช่เรา กายที่ยืน เดิน นั่ง นอน ถูกรู้ ไม่ใช่เรา กายที่เคลื่อนไหว กายที่หยุดนิ่งถูกรู้ ไม่ใช่เรา

อันนี้ดูง่ายๆ ดูไปเรื่อยๆ มันก็ล้างความเห็นผิดได้เหมือนกัน แล้วสมาธิระดับอัปปนาสมาธิมันจะเกิดทีหลัง อันนี้ใช้ปัญญานำไปเลย ในฐานะที่ไม่สามารถใช้สมาธินำได้ ในการดูเวทนา ถ้าจะดูเวทนาทางกาย ควรอย่างยิ่งที่จะต้องทรงฌาน ไม่อย่างนั้นสติแตก เจ็บทนไม่ไหว แต่ถ้าดูเวทนาทางใจ ดูง่าย ดูไปธรรมดาๆ นี่ล่ะ ใจของเราขณะนี้มีความสุข รู้ ใจขณะนี้ทุกข์ รู้ ใจขณะนี้ไม่สุขไม่ทุกข์ก็รู้ ตามรู้ตามเห็นไป

หัดรู้หัดดูเรื่อยๆ ต่อไปมันก็จะเห็น ความสุขก็ไม่เที่ยง ความทุกข์ก็ไม่เที่ยง ความเฉยๆ ก็ไม่เที่ยง สั่งไม่ได้ เลือกไม่ได้ บังคับไม่ได้ ไม่ใช่ตัวเราของเรา จิตที่ไปรู้ความสุข จิตที่ไปรู้ความทุกข์ จิตที่ไปรู้ความไม่สุขไม่ทุกข์ ก็เป็นแค่ธรรมชาติที่รู้อารมณ์ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เราสั่งจิตว่าจงรู้แต่ความสุข เราสั่งไม่ได้ เราสั่งว่าจิตอย่ารู้ความทุกข์ เราสั่งไม่ได้ เวลาเรามีสติรู้เวทนาลงไป เราก็จะเห็นทั้งเวทนา เห็นทั้งจิต ฝึกเรื่อยๆ เราก็จะเห็นทั้งกาย ทั้งเวทนา ทั้งจิต

ฝึกเรื่อยๆ ไป แล้วเห็นแต่ละอย่างๆ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ทำไมเราต้องแยกกาย เวทนา จิต ออกจากกัน การเรียนด้วยการแยกสภาวะ เป็นวิธีการศึกษาธรรมะในพระพุทธศาสนาที่สำคัญ เรียกว่าวิภัชชวิธี วิภัช วิภัชคือแยก เรียนแบบแบ่งแยก อย่างเราเห็นรถยนต์ 1 คัน มีรถยนต์จริงๆ เพราะรถยนต์เวลามองปุ๊บ เราก็ โอ้ นี้รถยนต์ ถ้าเรียนอย่างแยก เราก็จะแยกลูกล้อส่วนหนึ่ง ตัวถังส่วนหนึ่ง เครื่องยนต์ส่วนหนึ่ง สายไฟส่วนหนึ่ง น็อต สกรูอะไร ก็แยกๆๆ ไป แบตเตอรี่ก็อันหนึ่ง เบาะก็อันหนึ่ง ตัวถัง กันชน อะไรนี้ แยกเป็นส่วนๆๆ

พอเราจับรถยนต์มาแยก เราก็จะพบว่าลูกล้อไม่ใช่รถยนต์ พวงมาลัยก็ไม่ใช่รถยนต์ พอเราแยกด้วยวิภัชชวิธีคือจับแยก รถยนต์ก็หายไป ไม่มีรถยนต์แล้ว เราจะมาเรียนให้เห็นว่าตัวเราไม่มี เราก็มาจับแยกตัวเรา ก็แยกออกเป็นรูปธรรมนามธรรม แยกละเอียดออกไปก็เป็นขันธ์ 5 อายตนะ 6 ธาตุ 18 อินทรีย์ 22 แยกละเอียดๆ ออกไป แล้วเราจะพบว่าแต่ละตัวๆ ไม่ใช่ตัวเรา เราจะทำวิภัชชวิธีได้ ไม่ใช่นั่งคิด นั่งคิดยังใช้ไม่ได้ จิตต้องทรงสัมมาสมาธิจริงๆ ถึงจะแยกได้ เพราะฉะนั้นจิตจะทรงสัมมาสมาธิ

พูดถึงสัมมาสมาธิอาภัพที่สุดเลย คนไม่รู้จักสัมมาสมาธิหรอก ลงมือทำทีไรก็กลายเป็นมิจฉาสมาธิทั้งหมดเลย หาคนที่มีสัมมาสมาธินี้ยากจริงๆ สัมมาสมาธิเกิดจากสัมมาสติ สัมมาสติคือสติระลึกรู้รูปนาม ฉะนั้นเราต้องมาหัดแยกสภาวะ หัดดูก่อน อย่างคนไหนขี้โมโห เราก็ดูตอนนี้จิตโกรธแล้ว ตอนนี้จิตไม่โกรธ ตอนนี้จิตโกรธ ตอนนี้จิตไม่โกรธ หัดดูมันไปอย่างนี้ล่ะ ไม่ต้องเรียนอะไรเยอะหรอก คนไหนขี้โลภ เจออะไรก็อยากได้ ก็หัดดูจิตโลภ เดี๋ยวจิตก็โลภ เดี๋ยวจิตก็ไม่โลภ เดี๋ยวจิตก็โลภ เดี๋ยวจิตก็ไม่โลภ หัดดูไป หัดดูสภาวะไป

อย่างหลวงพ่อตอนหัดทีแรก หลวงพ่อเป็นคนขี้โมโห หลวงพ่อก็ดูจิตโกรธกับจิตไม่โกรธ เข้าคู่กัน แล้วจิตมันโกรธเราก็รู้ ทีแรกต้องโกรธนานๆ ถึงจะรู้ ต่อมาเราหัดดูจิตโกรธบ่อยๆ จิตจำสภาวะของความโกรธได้ โอ้ เวลาความโกรธเกิด มันพุ่งขึ้นมาจากกลางหน้าอก ถ้ามันพุ่งแรง พุ่งขึ้นถึงหัวเลย ครอบหัวเลยความโกรธ หน้ามืดไปเลย ความโกรธรุนแรง นี่เราเห็น เวลาความโกรธเกิดขึ้น ทำหน้าที่ผลักอารมณ์ออกไป ทำลายล้าง ผลักอารมณ์ให้กระเด็นออกไป

ค่อยๆ เห็นไป เริ่มต้นดูจากโกรธตัวเดียวนี้เอง เราก็เห็นความโกรธมันมีลักษณะอย่างนี้ มันทำงานอย่างนี้ ทำแล้วมันมีผลเป็นอย่างนี้ ทำไมมันเกิดขึ้น ค่อยๆ เห็นไปเรื่อยๆ มันโกรธเพราะเรากระทบอารมณ์ที่ไม่พอใจ แล้วเราไม่มีสติ เราเกิดพยาบาทวิตก ความโกรธมันก็ผุดรุนแรงขึ้นมา ยิ่งคิดยิ่งโกรธ ยิ่งคิดยิ่งโกรธ เริ่มต้นหลวงพ่อดูแค่สภาวะตัวเดียว ความโกรธ สภาวธรรมมีตั้ง 70 กว่าตัว เริ่มต้นดูมันตัวเดียวนี้เอง โกรธก็รู้ โกรธก็รู้ไปเรื่อย สุดท้ายมันก็รู้เข้าใจมากขึ้นๆ

 

อารมณ์ 4 ชนิด

สภาวะหนึ่งตัวมีลักษณะ มีองค์ประกอบ 4 อย่าง เรียกลักขณาทิจตุกกะ ชื่อเรียกยาก ลักขณาทิจตุกกะ จตุกกะคือองค์ 4 มีลักษณะเป็นเบื้องต้น ลักษณะของความโกรธเป็นอย่างไร มันพุ่งขึ้นมาอย่างนี้ มันทำหน้าที่อะไร ทำหน้าที่ล้างผลาญ ผลักอารมณ์ พอทำไปแล้วเกิดผลเป็นอย่างไร อะไรเป็นเหตุใกล้ให้มันเกิด จากสภาวะตัวหนึ่ง ดู เรียนอยู่ตัวเดียว แล้วมันก็จะรู้เหตุรู้ผลของมัน ความโกรธไม่ใช่เกิดลอยๆ ความโกรธก็มีเหตุให้เกิด ความรักก็มีเหตุให้เกิด ความดีใจ เสียใจ สภาวะทุกอย่างล้วนแต่มีเหตุให้เกิดทั้งสิ้นเลย

แต่เราไม่ต้องเรียนทีเดียวทุกๆ ตัว เรา สภาวะตัวไหนเด่น ตัวไหนเกิดบ่อย เรียนมันตัวเดียวนั่นล่ะ หลวงพ่อเริ่มเรียนจากตัวโกรธนี้ล่ะ แล้วต่อไปเราก็เห็นละเอียดขึ้น ตัวโกรธไม่ใช่จิต ตัวโกรธเป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาให้จิตรับรู้ จิตเป็นแค่ผู้รับรู้ความโกรธ ความโกรธกับจิตมันแยกออกจากกันแล้ว หัดทีแรกความโกรธกับจิตรวมเข้าด้วยกัน เกิดด้วยกันเลย อยู่ด้วยกัน เราฝึกชำนิชำนาญมันสามารถแยกได้ ความโกรธมันก็เป็นขันธ์หนึ่ง จิตที่เป็นคนรู้เป็นอีกขันธ์หนึ่ง คนละขันธ์กัน

คำว่า “ขันธ์” แปลว่าส่วน คนละส่วนกัน เราได้ยินคำว่าขันธ์ 5 ขันธ์ 5 ฟังแล้วกลัว ไม่กลัวมันหรอก ขันธ์แปลว่าส่วนๆ เป็นส่วนๆ ทำไมต้องแยกเป็นส่วนๆ อันนี้เรียกว่าวิภัชชวิธี จับมันแยกเป็นส่วนๆ แล้วมันจะเจอว่า แต่ละส่วนไม่มีตัวเราหรอก มันเห็นความโกรธไม่ใช่เรานี่นา เป็นแค่สภาวธรรมที่ผุดขึ้นมา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป จิตที่ไปรู้ความโกรธก็ไม่ใช่เราอีกล่ะ เป็นแค่สภาวธรรม จิตเป็นสภาวะอะไร มีลักษณะอะไร จิตเป็นสภาวธรรมที่มีลักษณะรู้อารมณ์ ฉะนั้นจิตเป็นตัวรู้ เป็นตัวรู้อารมณ์ “อารมณ์” แปลว่าอะไร อารมณ์แปลว่าสิ่งที่ถูกรู้

เพราะฉะนั้นเวลาเกิด มีจิตเมื่อไรจะต้องมีอารมณ์เมื่อนั้น 2 ตัวนี้ต้องเกิดด้วยกันเสมอ นี้อารมณ์มันมีหลายแบบ มี 4 อย่าง อารมณ์ อันหนึ่งอารมณ์ที่เราคิดขึ้นเอง มโนเอาเอง เรียกว่าอารมณ์บัญญัติ อารมณ์บัญญัติเอาไปทำวิปัสสนาไม่ได้เพราะไม่มีไตรลักษณ์ อารมณ์อีกอันหนึ่งเป็นรูปธรรมทั้งหลาย อันนี้เอาไว้ทำวิปัสสนาเพราะมีไตรลักษณ์ อารมณ์อีกอันหนึ่งเป็นนามธรรม เช่น ความสุข ทุกข์ กุศล อกุศล อะไรอย่างนี้ อันนี้ก็ไว้ทำวิปัสสนาได้ เพราะมีไตรลักษณ์ อารมณ์อันที่ 4 คือนิพพาน นิพพานก็เป็นอารมณ์

เพราะฉะนั้นมีจิตต้องมีอารมณ์ มีนิพพานก็ต้องมีจิต บางคนไม่รู้เรียนกันภาษาอะไร บอกตอนบรรลุมรรคผลไม่มีจิต สอนกันอย่างนี้เลย วูบลงไปหมดความรู้สึกตัว แล้วบอกบรรลุมรรคผลแล้ว บรรลุมรรคผลอะไรไม่มีจิต เวลาที่เกิดอริยมรรคมีจิตตั้ง 20 ชนิด เวลาเกิดอริยผลมีจิตอีก 20 ชนิด แล้วยังมาบอกว่าตอนเกิดมรรคเกิดผลไม่มีจิต มันเพี้ยนหนักๆ เลย เรียนแล้วเสียเปล่าๆ มันเกิดมรรคจิต เกิดผลจิต ไม่ใช่ไม่มีจิต แล้วจิตนั้นไปรู้อะไร จิตไปรู้อารมณ์นิพพาน จิตต้องรู้อารมณ์ จิตกับอารมณ์เกิดด้วยกัน

เราค่อยภาวนา อารมณ์ 4 ชนิด อารมณ์บัญญัติคือเรื่องที่คิดเอา ใช้ทำสมถะได้ ใช้ทำวิปัสสนาไม่ได้ เราคิดๆ อย่างเราคิดถึงคุณของพระพุทธเจ้า คิดแล้วจิตมีปีติ มีความสุข อันนี้เป็น อารมณ์ที่เราคิดเอา อารมณ์บัญญัติ อารมณ์อันที่สอง รูป รูปธรรม รูปธรรมนี้ทำวิปัสสนาได้ มีไตรลักษณ์ แต่เอาไปทำสมถะได้ไหม ได้ ถ้าทำเป็นทำได้ อย่างเราจุดเทียนขึ้นมาเล่มหนึ่ง แล้วเรานั่งดูไฟ ดูไฟ ดูไปเรื่อยๆ จิตรวมลงกับไฟ เป็นกสิณไฟ ทำไมจะเป็นสมถะไม่ได้ ดูน้ำ เพ่งน้ำ เห็นน้ำมันเป็นระลอกไหวๆๆๆ จิตรวมเกิดสมถะได้

เพราะฉะนั้นตัวรูปใช้ทำได้ทั้งสมถะ ใช้ทำได้ทั้งวิปัสสนา อารมณ์บัญญัติทำสมถะได้อย่างเดียว ตัวนามก็เหมือนกัน ทำสมถะก็ได้ ทำวิปัสสนาก็ได้ อย่างเราจะใช้นามธรรมทำสมถะ เรากำหนดจิตไปอยู่ในความว่าง นี้พวกชอบว่างๆ แล้วนึกว่าพระอรหันต์ มันไม่หันหรอก จิตมันหลุดเข้าไปอยู่ในอากาสานัญจายตนะ ไปอยู่ในช่องว่าง เราใช้นามธรรม ดู แล้วจิตก็เป็นสมถะ หรือทำวิญญาณัญจายตนะ เราเพ่งเข้าไปที่ตัวผู้รู้ แต่ตัวนี้ไม่แนะนำให้ทำ ถ้าทำแล้วแก้ยาก ใช้เวลาแก้เป็นปีเลย

หลวงพ่อเคยพลาด ตอนนั้นเวลาดูจิต หลวงพ่อดูผิด หลวงพ่อส่งจิตไปดูอยู่ที่กลางหน้าอก เราเห็นไหวอยู่กลางหน้าอก คอยดูอยู่อย่างนี้ วันหนึ่งไปอยู่วัดสาขา ตอนนั้นหลวงปู่ดูลย์ไม่อยู่แล้ว ไปอยู่วัดหน้าเรือนจำ ครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง หลวงพ่อคืน เห็นหลวงพ่อไปจ้องอย่างนี้ “เฮ้ย ปราโมทย์ อันนั้นไม่ใช่จิต จิตอยู่ทางนี้ อย่าไปดูตรงนั้น จิตมันอยู่ทางนี้ ให้ดูตัวนี้” ว่าอย่างนี้ โอ้ เราได้เคล็ดวิชาชั้นสูงแล้ว ดีใจมากเลย รีบเข้ากุฏิเลย

ท่านให้อยู่กุฏิคู่กับท่านเลย ประตูกุฏิตรงกันเลย เป็นกุฏิชั้นเดียวแต่ยกพื้น มีบันได 2-3 ขั้น อยู่เผชิญหน้ากับท่าน ท่านให้อยู่กุฏินี้ เราก็ดีใจ โอ้ ท่านให้มาดูตัวจิต เข้าห้องได้ดูมัน ไปดูตัวจิตผู้รู้ พอดูตัวจิตผู้รู้ ตัวจิตผู้รู้กลายเป็นของถูกรู้ เกิดจิตผู้รู้เบอร์ 2 ขึ้นมา เราไปดูจิตผู้รู้เบอร์ 2 จิตผู้รู้เบอร์ 2 ดับ เกิดจิตผู้รู้เบอร์ 3 ดูไปเรื่อยๆๆๆ ไม่มีที่สิ้นสุด ดูไปจนจะสว่างแล้ว อันนี้ผิดนี่นา นี่เราไปเพ่งวิญญาณ วิญญาณเป็นอนันต์ ไม่มีที่สิ้นสุด

ตอนนั้นพอจิตถอยออกมาจากสมาธิ โมโหเลย โกรธหลวงพ่อคืนเลย โกรธ เราภาวนาของเราดีๆ เราเห็นเกิดดับ มาให้เราดูตัวผู้รู้ คราวนี้คิดถึงการปฏิบัติทีไร มันไปดูตัวผู้รู้ทุกทีเลย โมโหเลยแล้วพอดีมันเริ่มได้อรุณแล้ว เราก็จะไปเล่นงานท่าน ผลักประตูออกไป โครม ท่านก็แน่จริงๆ จิตท่านไวมากเลย ท่านรู้ว่าเราจะไปเล่นงานท่าน ท่านก็ผลักประตูออกมาพร้อมๆ กันเลย โครม 2 ข้างเลย ไวจริงๆ หลวงพ่อก็ต่อว่าท่าน “หลวงพ่อมาสอนอะไรผมอย่างนี้ นี่ผมกรรมฐานเสียไปหมดแล้ว คิดถึงการปฏิบัติ แล้วไปเพ่งตัวผู้รู้ทุกทีเลย คราวนี้แก้ไม่ตกเลย”

ท่านบอก “ไม่ได้ให้เพ่งตัวนี้สักหน่อย จะบอกว่าอย่ามาเพ่งตัวนี้ อย่าไปจมอยู่กับตัวนี้” บอก “อ้าว ไม่เห็นบอกอย่างนั้นเลย” บอก “อันนั้นไม่ใช่จิต จิตมันอยู่นี่ ให้มาดูนี่” ก็โอเค เราฟังท่านไม่เข้าใจเอง ก็ขอโทษท่าน ขอโทษท่าน แล้วคราวนี้ใช้เวลาอีกปีหนึ่ง ในการที่จะแก้กรรมฐานที่ติดตัวนี้ ทันทีที่กำหนดจิตจะปฏิบัติปุ๊บ เพ่งผู้รู้ทันทีเลย แก้ไม่ตกเลย เพราะฉะนั้นอย่าไปเล่นตัวนี้ เล่นแล้วแก้ยากที่สุดเลย

อีกตัวหนึ่งที่เป็นนามธรรม ที่ไปเพ่งแล้วเป็นสมถะไปเลย คือเพ่งความไม่มีอะไรเลย ไม่เอาทั้งรูปธรรม ไม่เอาทั้งนามธรรม เอาแต่ความว่าง สุญญตา สุญญตาคิดเอาเองทั้งนั้นพวกนี้ มันเป็นเรื่องของสมถะทั้งนั้นเลย แล้วคิดว่าเป็นวิปัสสนา อันนี้ใช้ไม่ได้ อีกอันหนึ่งถ้าเรา พอเราไปทรงอยู่กับความไม่มีอะไรสักช่วงหนึ่ง มันเป็นอารมณ์ที่ละเอียดมาก ความรู้สึกตัวเรา สัญญาจะค่อยๆ อ่อนๆๆ ลงไป จนกระทั่งเหลือความรู้สึกตัวอยู่นิดเดียว เหลืออยู่นิดเดียว อันนั้นก็เป็นสมถะ ที่ใช้นามธรรมอีกแบบหนึ่ง

แต่ถ้าเราชำนาญในการดูจิต แล้วชำนาญในฌาน เวลาที่เราอยู่ในอรูปฌาน เราก็เดินวิปัสสนาได้ มันลีลามันมาก การปฏิบัติ สนุก อย่างกระทั่งในอรูปที่ 4 เนวสัญญานาสัญญายตนะ ถ้าเราชำนาญในฌาน แล้วก็ชำนาญในการดูจิต เราสามารถเดินวิปัสสนาในเนวสัญญานาสัญญายตนะได้ มีฌานตัวหนึ่งที่เดินวิปัสสนาไม่ได้ คือพรหมลูกฟัก อสัญญสัตตา พรหมลูกฟัก จิตรวมวูบลงไป ไม่มีจิตแล้ว เมื่อไม่มีจิต ไม่มีอารมณ์ กลายเป็นต้นไม้ กลายเป็นก้อนหินเฉยๆ ตรงนั้นเดินวิปัสสนาไม่ได้

 

เบื้องต้นรู้ถึงความมีอยู่ของร่างกายจิตใจ
ต่อไปก็รู้ถึงความเปลี่ยนแปลงของร่างกายจิตใจ

ฉะนั้นที่บอกภาวนาๆ แล้ววูบ หมดความรู้สึกแล้วบรรลุ อันนั้นไม่ใช่ อันนั้นจิตหลุดเข้าไปอยู่ในพรหมลูกฟัก ใช้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องค่อยๆ เรียน ต้องศึกษาให้ดี เริ่มต้นทำสิ่งที่เราทำได้ มีสติรู้สึกไป ร่างกายหายใจออก รู้สึก ร่างกายหายใจเข้า รู้สึก ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึก ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง รู้สึกไปเรื่อยๆ ทำไป แล้วต่อไปมีอะไรแปลกปลอมขึ้นในจิต จิตมันจะเห็นเอง ฉะนั้นดูกายอย่างนี้ จิตมันจะมีกำลังขึ้นมา แล้วเสร็จแล้วมันจะไปดูจิตได้ ฉะนั้นดูกายเพื่อให้เห็นจิต ถ้าดูจิตแล้วมันจะเห็นธรรม ธรรมอะไร กุศลธรรมเกิดที่จิต อกุศลธรรมก็เกิดที่จิต มรรคผลก็เกิดที่จิต เราจะเห็นธรรมะเกิดอยู่ที่จิต ดับลงที่จิต สิ่งใดเกิด สิ่งนั้นก็ดับ

ฉะนั้นเบื้องต้นทำสิ่งที่เราทำได้ ไม่ใช่ทุกคนจะต้องดูจิตอย่างที่หลวงพ่อทำ หลวงปู่ดูลย์ให้หลวงพ่อสตาร์ตด้วยการดูจิตเลย ทำไมท่านให้ทำตรงนั้น ก่อนท่านจะสอน ท่านเข้าสมาธิอยู่สัก 45 นาที นั่งสมาธิของท่านไป เราก็นึกว่าหลวงปู่แก่มากแล้ว ฉันข้าวเสร็จแล้วออกมานั่ง เราถามกรรมฐานเลย นั่งหลับไปแล้ว นึกว่าหลวงปู่หลับ ตอนนั้น แล้วก็หลับไปนาน พอท่านลืมตาท่านถึงสอน สอนให้ดูจิตเอาเลย ที่จริงที่ท่านนั่งสมาธิ ท่านนั่งสอบประวัติเรา ว่าเราภาวนามายังอย่างไร ภาวนามาถึงไหน จะต่อยอดอย่างไร ท่านจะสอนต่อยอด

ฉะนั้นไม่ใช่ลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์ทุกคนดูจิต ลูกศิษย์ส่วนใหญ่ของหลวงปู่ดูลย์ดูกาย มีไม่มากที่ดูจิต นี้ท่านให้หลวงพ่อดูจิต นี้พวกเราพอได้ยินว่าหลวงพ่อดูจิตก็จะดูบ้าง ถ้ากำลังของสติเราไม่พอ กำลังของสัมมาสมาธิไม่พอ ดูจิตไม่เห็นหรอก ได้แต่คิดฟุ้งๆ ไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นถ้ากำลังเรายังไม่พอ รู้สึกกายไป ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก ร่างกายหยุดนิ่ง รู้สึก รู้สึกเรื่อยๆ ไป เมื่อเช้าก็มีพวกทิดบางคนมาส่งการบ้าน หลวงพ่อให้ไปดูร่างกาย พอจิตมีแรงขึ้นมา พอจิตมีแรงแล้ว ต่อไปจิตจะขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวอะไร มันเห็นเอง ไม่ได้เจตนาจะเห็น

ฉะนั้นพยายามฝึก มีสติระลึกรู้ องค์ธรรมที่เรารู้ได้ อย่างหลวงพ่อเริ่มต้น หลวงพ่อดูจิตได้แล้ว ของเราถ้าดูจิตได้ก็ดู ถ้าดูจิตไม่เห็น ดูร่างกายไป หรือถ้าจะดูเวทนาก็ดูเวทนาทางใจ อย่างขณะนี้ใจเราสุข หรือใจเราทุกข์ หรือใจเราเฉยๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์ ดูไปอย่างนี้ ทั้งวันดูมันอยู่แค่นี้ก็พอแล้ว ไม่เห็นจะยากอะไรเลย ขณะนี้สุขหรือทุกข์รู้ไหม หรือขณะนี้เฉยๆ รู้ไหม ยากไหมที่จะรู้ ไม่เห็นจะยากตรงไหนเลย ถ้าเป็นคนขี้โมโห ขณะนี้โกรธรู้ไหม ขณะนี้ไม่โกรธรู้ไหม ไม่เห็นมันจะยากตรงไหนเลย

หัดดูสภาวะไปเรื่อย ขณะนี้หายใจออก ขณะนี้หายใจเข้า ยากไหมที่จะรู้ ไม่เห็นจะยากตรงไหนเลย เพราะฉะนั้นการที่จะทำสติปัฏฐาน อย่าไปตกใจ ให้มีสติระลึกรู้ไป ไม่ใช่เพ่ง ไม่ใช่จ้อง ไม่ได้เอาเป็นเอาตาย แค่ระลึกรู้ ระลึกรู้ความมีอยู่ของร่างกาย ระลึกรู้ความมีอยู่ของจิตใจ นี้เป็นเบื้องต้นทำให้เรามีสติ ระลึกรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ระลึกรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงของจิตใจ นี้เป็นเบื้องปลายทำให้เกิดปัญญา

ฉะนั้นสติปัฏฐาน เราระลึกรู้ 2 อัน อันหนึ่งทำให้มีสติ คือระลึกรู้สภาวะที่กำลังมีกำลังเป็น รู้สึกร่างกายมันหายใจ ร่างกายหันไปหันมา รู้สึก รู้ถึงความมีอยู่ของร่างกาย ไม่ใจลอย ใจลอยแล้วร่างกายหายไป ใจลอยคือขาดสติ รู้สึกร่างกายอยู่ เรียกเรามีสติอยู่ สติรู้กายเป็นสติปัฏฐาน นี้ในเบื้องต้น รู้ถึงความมีอยู่ของจิตใจ จิตใจเราสุขก็รู้ จิตใจเราทุกข์ก็รู้ จิตใจเฉยๆ ก็รู้ หัดรู้ไปเรื่อยๆ ต่อไปจิตมันขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวอะไรเล็กๆ น้อยๆ มันเห็นเอง อันนั้นจะรู้ถึงความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของมันแล้ว

ค่อยๆ ฝึก ทีแรกก็รู้ถึงความมีอยู่ของร่างกาย ของจิตใจ ต่อไปก็รู้ถึงความเปลี่ยนแปลงของร่างกายจิตใจ ตรงรู้ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงนั้น รู้ไตรลักษณ์นั่นคือวิปัสสนา ตรงที่รู้ความมีอยู่ของร่างกายจิตใจ ไม่ลืม ไม่ลืมร่างกาย ไม่ลืมจิตใจตัวเอง อันนั้นเรียกเรามีสติ ฝึกนะ ทางลัดไม่มี บอกแล้ว ทุกวันนี้ชอบทางลัดเพราะขี้เกียจ เพราะขี้เกียจเอะอะก็จะหาทางลัด ทางลัดไม่มีหรอก ถ้ามีครูบาอาจารย์สอนแล้ว ถ้ามีพระพุทธเจ้าบอกไว้แล้ว

เราถนัดอันไหน เราทำกรรมฐานอันนั้น นั่นทางลัดเฉพาะตัวเรา ไม่มีทางลัดทั่วไป แต่ทั้งหมดอยู่ในหลักของสติปัฏฐานนั่นล่ะ อยู่ๆ ไปทำจิตว่าง เป็นอะไร เป็นสมถะ แล้วนึกว่าเป็นพระอรหันต์ ลองคนไหนบอกว่ากำหนดจิตแล้วว่าง เป็นพระอรหันต์แล้ว พวกเราลองทดสอบ ไปด่าดู ด่ามันหนักๆ เลย ดูสิพระอรหันต์จะโกรธไหม แต่ระวังติดคุก ผิดกฎหมาย ถ้าไปด่าเขาแล้วเห็นโทสะเขาขึ้น ดูง่ายใช่ไหม แต่ แหม มันเสี่ยง ลองเอาราคะไปยั่วสิ ไปชม โอ๊ย เก่งอย่างโน้น ดีอย่างนี้ ถ้าแกปลื้มก้นกระดกขึ้นมา ก็ไม่ใช่พระอรหันต์แล้ว เราชมๆๆ ไม่ผิดกฎหมาย อย่างนี้ค่อยปลอดภัยหน่อย แต่เห็นผลช้า เห็นผลเร็วนี้ด่ามันเลย ได้ผล

หลวงปู่ดูลย์เคยใช้ มีลูกศิษย์ของท่านเป็นพระ คิดว่าเป็นพระอรหันต์แล้ว มาที่วัดบูรพาราม หลวงปู่ก็พยายามแก้ แก้อยู่หลายวัน แก้ไม่ตก เชื่อมั่นเลยว่าตัวเองเป็นพระอรหันต์ สุดท้ายหลวงปู่ใช้ไม้ตาย “ไอ้สัตว์เดรัจฉาน สัตว์นรก ไสหัวไปให้พ้น” โห พระอรหันต์โกรธขึ้นมาทันทีเลย แล้วท่านก็คว้าเอาไม้กวาดพาดบ่าไป โกรธมากจนนึกว่าคว้าเอากลดไป รู้จักกลดไหม พระธุดงค์ชอบมีกลด คว้าเอาไม้กวาดพาดบ่าออกจากวัดไปเลย เดินไป 3 กิโลแล้วเพิ่งรู้ว่าโกรธ เลยตอนหลังกลับมาขอขมา ครูบาอาจารย์แก้ให้ แก้พระอรหันต์ด้วยใช้วิธีด่าเอา แต่อันนั้นท่านพระกับพระ ท่านเล่นกัน เพราะไม่มีใครว่า ยุคนี้ไปเล่นวิธีนี้ เดี๋ยวมันฟ้องศาล

เจ้าคุณอุบาลี สิริจันโท วัดบรมนิวาส ก็มีคุณหญิงคุณนายคนหนึ่งไปบอกท่าน บอก “ท่านเจ้าคะ เดี๋ยวนี้ดิฉันไม่มีโกรธแล้ว” ก็คือจะบอกว่าเป็นพระอนาคามีแล้ว “ท่านเจ้าคะ ดิฉันไม่โกรธแล้ว” “อีตอแหล” ด่าฉอดๆๆๆ โอ๊ย พระอนาคามีโกรธ “พระอะไรปากจัดจัง ไม่นับถือแล้ว” เดินออกไปนอกวัดเลย แล้วพอออกนอกวัดนึกได้ เฮ้ย นี้โกรธ ก็กลับมาขอขมาท่าน คนยุคนั้นเขาสอนกรรมฐานกันเจ็บๆ ยุคนี้สอนไม่เจ็บแล้ว สอนเจ็บ เดี๋ยวคนสอนเจ็บแทน คนยุคนี้มันป่าเถื่อน

มีพระองค์หนึ่งท่านพาลูกศิษย์มา เมื่อเช้าอาจารย์อ๊าเล่า หลวงพ่อลืมไปแล้วเรื่องนี้ บอกว่า ถ้าอยากเรียนกรรมฐาน ถ้าเรียนแบบดุเดือดให้ไปที่วัดนี้ วัดสายวัดป่า องค์นี้ดุ ด่าเช็ดเลย ขืนทำอะไรไม่ดี ถ้าอยากเรียนแบบสุภาพนุ่มนวล มาเรียนกับอาจารย์ปราโมทย์นี้ นุ่มนวล อ้อ เราเป็นสายหวาน เป็นทางหวาน โน่นเขาทางดุ ดีว่าไม่มีประชันกัน เราปี่พาทย์ทางหวาน ไม่ใช่ปี่พาทย์ทางดุ

จิตมีความสุขทราบไหม ยากไหมที่จะรู้ ไม่ยากแต่ไม่ยอมรู้ต่างหาก มัวแต่เผลอ เห็นไหมฟังหลวงพ่อเล่าแล้วเพลิน ต่อไปส่งการบ้าน เมื่อก่อนก็ทางดุเหมือนกัน ต่อมาพบว่าไม่ได้ เดี๋ยวมันเตะเอา เราแก่แล้ว สู้มันไม่ไหว แต่ถ้าอยู่ในจอ พอสู้

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
15 มีนาคม 2568