วิธีไปสู่นิพพาน

ยินดีที่ได้เจอกันวันนี้ ได้ข่าวว่าพวกเรามาจากหลายประเทศ ที่จริงธรรมะไม่ได้อยู่ที่ประเทศไหนทั้งสิ้น ธรรมะอยู่ที่ตัวเราเอง และธรรมะของพระพุทธเจ้า ถ้าเราได้ศึกษาได้ปฏิบัติแล้ว สิ่งที่เราจะได้คือความพ้นทุกข์ ทีนี้คนส่วนใหญ่เข้าใจผิด กระทั่งคนไทยส่วนใหญ่ไม่เข้าใจศาสนาพุทธหรอก ไปไหว้พระ ไปตามวัดไปทำบุญอะไรอย่างนี้ หวังว่าจะร่ำรวย หวังว่าจะมีฐานะดี มีตำแหน่งหน้าที่ดี หวังว่าเรียนหนังสือเก่ง ธรรมะไม่ได้ตอบโจทย์สิ่งเหล่านั้นหรอก ธรรมะของพระพุทธเจ้าตอบโจทย์ที่สำคัญที่สุด คือทำอย่างไรเราจะอยู่โดยไม่ทุกข์ ทำอย่างไรเราจะมีชีวิตอยู่โดยไม่ทุกข์

หลวงพ่อเทศน์คนแรก พระอาจารย์อ๊าบอกว่าเทศน์คนแรกได้เปรียบ เพราะว่าอยากเทศน์อะไรก็ได้ ส่วนคนที่เทศน์ทีหลัง โอ้ ตรงนี้หลวงพ่อก็พูดแล้ว ตรงนี้ก็พูดแล้ว เทศน์ยาก ยิ่งพระอาจารย์เทศน์วันหลังๆ จะลำบาก แต่เรื่องของท่าน หลวงพ่อจะพูดภาพกว้างๆ ให้พวกเราเห็น หัวข้อที่จะพูดข้อแรกก็คือเรื่องความรู้สึกตัว หัวข้อที่สอง คือเรื่องของสมถกรรมฐาน หัวข้อที่สาม เรื่องวิปัสสนากรรมฐาน เรื่องหัวข้อที่สี่ เรื่องอริยมรรค อริยผล หัวข้อที่ห้า คือเรื่องนิพพาน

 

ความรู้สึกตัว

เราจะไปสู่นิพพาน นิพพานเป็นสภาวะที่เราพ้นทุกข์สิ้นเชิง ฉะนั้นจะตอบโจทย์เราว่าเราจะไปสู่ความพ้นทุกข์ได้อย่างไร จุดเริ่มต้นที่จะทำให้เราไปสู่ความพ้นทุกข์ได้ คือความรู้สึกตัว มันเป็นเรื่องแปลก คนในโลกไม่เคยรู้สึกตัวเลย เราเกิดมากับความหลง มีชีวิตอยู่กับความหลงแล้วก็ตายไปกับความหลง หลงอะไรบ้าง วันๆ ก็หลงคิด ถ้าจะปฏิบัติก็หลงเพ่ง ถ้าอยู่กับโลกธรรมดา หลงไปดู หลงไปฟัง หลงไปดมกลิ่น หลงไปลิ้มรส หลงไปรู้สัมผัสที่ร่างกาย มันมีแต่เรื่องหลง หลงทางใจเกิดบ่อยที่สุด คือหลงคิด

พระพุทธเจ้าบอกว่าท่านไม่เห็นธรรมะอื่นสำคัญเท่ากับความรู้สึกตัว พอมีความรู้สึกตัวแล้วจะเป็นจุดตั้งต้นที่เราจะสามารถเอาชนะกิเลส แล้วก็เข้าถึงพระนิพพานได้ คนในโลกไม่เคยรู้สึกตัว สังเกตดูเวลาเราเห็นภาพต่างๆ เห็นคนเดินมา เห็นดอกไม้สวย เห็นอะไรที่น่าเกลียด ใจเราจะไหลไปอยู่ตรงสิ่งที่เราเห็น เห็นดอกไม้สวย ใจเราก็ไหลไปอยู่ที่ดอกไม้ เห็นผู้หญิงสวย เห็นผู้ชายหล่อ ใจเราก็ไหลไปอยู่ที่ผู้หญิงที่ผู้ชาย เห็นหมาสวยๆ ใจเราก็ไหลไปอยู่ที่หมา ไม่ว่าเราจะเห็นอะไร ใจเราก็ไหลไปที่นั่น แล้วมันเกิดอะไรขึ้น เวลาที่ใจเราไหลไปดูรูป เราลืมร่างกายจิตใจของตัวเอง มีร่างกายก็ลืมร่างกาย มีจิตใจก็ลืมจิตใจ

เห็นไหมตอนที่มาดูมือหลวงพ่อ หลวงพ่อยกมาทำอะไร เรามีร่างกาย เราก็ลืมร่างกายตัวเอง มีจิตใจ เราก็ลืมจิตใจตัวเอง ใจเรากำลังสงสัย หลวงพ่อยกมือมาทำไม เราไม่เห็นว่าใจเราสงสัย หรือเรามาจ้องหลวงพ่อตาแป๋วๆ ขณะที่เรามาตั้งอกตั้งใจดูหลวงพ่อฟังหลวงพ่อ สังเกตไหม เรามีร่างกาย เราก็ลืมร่างกาย บางคนนั่งท่านี้ บางคนทำท่าอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่รู้หรอก ไม่รู้ตัว ไม่รู้ว่าตอนนี้ร่างกายมีท่าทางอย่างไร ไม่รู้ว่าตอนนี้จิตใจรู้สึกอย่างไร อันนี้เรียกว่าเราหลงไปทางตา เราไปดู ไปดูรูป เราก็ลืมกายลืมใจตัวเอง เวลาเราไปฟังเสียง เรารู้เรื่องที่ฟัง เมื่อกี้ฟังเสียงนกร้อง ฟังไม่รู้ว่ามันร้องว่าอะไรหรอก แต่ฟังแล้วเพลินๆ ขณะที่เราฟังเสียงนกร้องเพลินๆ เสียงน้ำไหลเพลินๆ ขณะนั้นจิตใจเราเป็นอย่างไร เราไม่รู้ ขณะนั้นร่างกายเราเป็นอย่างไร เราไม่รู้ เราลืมตัวเอง

เห็นไหมว่าตั้งแต่เราเกิดมา เวลาที่เราหลงลืมตัวเองมากมายมหาศาล เวลาที่เรารู้สึกตัวเองน้อยเต็มที คนในโลก หลวงพ่อถึงบอก คนในโลกไม่มีความรู้สึกตัว เพราะฉะนั้นเรื่องจะมาปฏิบัติธรรมให้บรรลุมรรคผลนิพพานอะไร ทำไม่ได้จริง เพราะพระพุทธเจ้าบอกว่าความรู้สึกตัวเป็นจุดตั้งต้นที่เราจะละกิเลสได้ ละกิเลสได้หมด เราก็ถึงพระนิพพาน แต่ถ้าเราไม่รู้สึกตัว เราก็ทำตามใจกิเลสตลอดเวลา

เราอยากเห็นรูป เราก็มัวไปดูรูป ร่างกายเป็นอย่างไรไม่รู้ จิตใจเป็นอย่างไรไม่รู้ เราอยากฟังเพลง ขณะที่เราฟังเพลงเพลินๆ บางคนฟังเพลงนี้แล้วเคยอกหัก ฟังเพลงนี้แล้วเศร้าอะไรอย่างนี้ ขณะนั้นใจมีความสุขหรือใจมีความทุกข์ ไม่รู้ มันหลงไปหาอดีตหลงไปอะไรต่ออะไร หลงตลอดเวลา อย่างนี้เวลาเราได้ยินได้ฟังอะไร ใจเราก็หลงไปฟัง ฟังรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง แต่ก็หลง หลงก็คือมีร่างกาย ลืมร่างกาย มีจิตใจ ลืมจิตใจ

เวลาเราได้กลิ่น สมมติเราเดินๆ อยู่ เราได้กลิ่นอะไรหอมๆ ใจเราเกิดสงสัย เอ๊ะ กลิ่นดอกไม้อะไร หอมจัง อยากดู ถ้ารู้จักแล้วจะได้เอาไปปลูกที่บ้าน ได้หาไปปลูกบ้าง ขณะนั้นพอเราได้กลิ่น เราก็สนใจ กลิ่นอะไร ขณะนั้นเราไม่รู้ว่าเรากำลังสนใจ กำลังสงสัยว่านี่มันกลิ่นอะไร เราลืมตัวเอง เที่ยวเดินหันซ้ายหันขวาไปดู นี่มันดอกไม้อะไร มันอยู่ตรงไหน ร่างกายเคลื่อนไหวอยู่ เราก็ไม่รู้ ลืมร่างกายอีก พูดง่ายๆ ก็คือความไม่รู้สึกตัว ก็คือเรามีร่างกาย เราก็ลืมมัน มีจิตใจ เราก็ลืมมัน เรามัวแต่รู้รูป รู้เสียง รู้กลิ่น รู้รส รู้สิ่งที่สัมผัสร่างกาย แล้วบางทีใจก็หลงไปคิด เวลาเราคิด บางทีก็รู้เรื่องที่คิด บางทีก็ไม่รู้เรื่องที่คิด เหม่อๆ ไป ใจลอยไป ไม่รู้ว่าคิดอะไร นั่งเผลอๆ เพลินๆ ไป ในขณะนั้นมีร่างกายก็ลืม มีจิตใจเราก็ลืม เราไม่รู้ว่ากำลังหลงไป

คนในโลกมันอยู่กับความหลง หลงไปดู หลงไปฟัง หลงไปดมกลิ่น หลงไปลิ้มรส หลงไปรู้สิ่งที่สัมผัสร่างกาย หลงไปคิดนึกทางใจ ทุกคราวที่หลง เรามีร่างกาย เราก็ลืมร่างกาย เรามีจิตใจ เราก็ลืมจิตใจ ในขณะที่ธรรมะคือรูปธรรมนามธรรม คือร่างกายคือจิตใจของเราเอง ถ้าเรามีร่างกาย เราก็ลืมร่างกาย เราก็ไม่มีโอกาสเรียนธรรมะ ไม่สามารถเห็นความจริงของร่างกายได้ เรามีจิตใจ เราลืมจิตใจ เราก็ไม่สามารถเรียนรู้ความจริงของจิตใจเราได้ เพราะฉะนั้นเราจะต้องพยายามฝึกตัวเองให้ตื่นขึ้นมาให้ได้ กลับมารู้สึกตัวให้เป็น

วิธีที่จะทำให้เรารู้สึกตัวเป็น ก็คือคอยสังเกตตัวเอง เวลาเราใจลอยไป คอยรู้ทันบ่อยๆ เวลาเราไปดูอะไร ให้รู้สึกตัวขึ้นมา นี่มันหลงไปดูแล้ว เวลาเราไปฟังอะไร ฟังเพลินๆ ไป ให้รู้สึกขึ้นมา เฮ้ย นี่มันหลงไปฟังแล้ว หัดสังเกตตัวเองไปเรื่อย หัดสังเกตใจตัวเอง ใจเราหลงไปดู ก็คอยรู้ ใจหลงไปฟัง ก็คอยรู้ ใจหลงไปคิด ก็คอยรู้ มันหลงได้ 6 ทาง คือทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ การหลงที่เกิดบ่อยที่สุดคือหลงทางใจ หลงไปคิดนั่นเอง เราคิดทั้งวัน แล้วเราก็จะไม่ได้ฝึกห้ามคิด

 

เราไม่ได้ฝึกห้ามคิด

จิตมีธรรมชาติคิด เราจะไปห้ามมันคิด อันนั้นผิดธรรมชาติ ฝืนความจริง ทำไม่ได้ ไม่มีใครทำได้ พระอรหันต์ยังคิดอยู่เลย ทำไมพวกเราจะคิดไม่ได้ เพียงแต่ความแตกต่างก็คือพระอรหันต์คิด จิตท่านไม่หลง ในขณะที่พวกเราคิด จิตเราหลงเรา เราหลงไปในเรื่องราวที่คิด นี่หลงคิด เป็นตัวแรกเลย เกิดบ่อยที่สุด ตัวที่รองลงมาคือหลงไปดู อันนี้ถ้าเราตาไม่บอด ถ้าคนตาบอดก็ตัดไป หลงดูไม่มี แต่คนตาไม่บอดหลงคิดเป็นเบอร์ 1 เลย เกิดบ่อย อยู่คนเดียวก็คิดได้ นอนอยู่ก็คิดได้ หลับอยู่ยังฝันเลย ฝันก็คือคิดตอนหลับ แต่ตื่นขึ้นมา สังเกตไหม พอเราตื่นขึ้นมา เราก็จะดูโน่นดูนี่ มองโน่นมองนี่ทั้งวัน

การที่เราหลงไปดูเกิดบ่อย แต่น้อยกว่าหลงคิด หลงอันดับสามคือหลงไปฟัง ถ้าเราหูไม่หนวก บางทีเราก็คิดโน่นคิดนี่ เราคิดได้ แต่เราไม่ได้ดู เราไม่ได้ฟัง หรือเวลาเราไปดู ขณะที่ดูอะไร บางทีเราก็ไม่ได้ฟัง แต่สังเกตให้ดี ธรรมชาติของจิตรู้อารมณ์ได้ครั้งละอย่างเดียว ขณะที่จิตคิด จิตจะไม่เห็นรูป จิตจะไม่ได้ยินเสียง ขณะที่ตามองเห็น จิตจะไม่ได้หลงไปคิด จิตจะไม่ได้หลงไปอยู่ในความคิด ขณะที่มองเห็น จิตทำงานหลักอยู่ที่ตา เห็นรูปอย่างเดียว ขณะที่ฟังเสียง จิตก็ฟังอย่างเดียว

เราจะพิสูจน์ตัวนี้โดยการไปดูซีรีส์ ไม่รู้ว่าเมืองจีนมีซีรีส์ให้ดูไหม มีหนังฉายเป็นตอนๆ ให้ดูไหม ถ้ามีลองไปดูซีรีส์ เวลาเราไปดูหนัง สังเกตไหม บางทีตาเราก็ดูรูปในจอ เวลาผู้ร้ายพูด เราก็ฟัง นางเอกพูด เราก็ฟัง พระเอกพูด เราก็ฟัง ขณะที่จดจ่อกับการฟัง สังเกตให้ดี เราไม่ได้ดูรูป แต่เรากำลังตั้งใจฟังเสียง แล้วพอเราฟังแล้วเราก็เริ่มคิด มันพูดอย่างนี้ มันจะหมายความว่าอย่างไร ผู้ร้ายมาพูดกับนางเอก มาพูดอย่างไพเราะเชียว พูดดีเชียว เราก็เริ่มคิด มันจะมาหลอกนางเอกนี่ เห็นไหม ขณะที่เราคิด ขณะนั้นสังเกตดู ตาเราจะเบลอๆ ไป ตาเราจะมองรูปได้ไม่ชัดแล้ว หูเราก็ไม่ค่อยได้ยินเสียงแล้ว เพราะใจเรามัวแต่คิด

ธรรมชาติจิตรู้อารมณ์ได้ครั้งละอย่างเดียว ทุกคนลองดูพระพุทธรูป ดูองค์สีขาว สังเกตไหมว่าขณะที่เราตั้งใจไปดูพระ เราลืมตัวเราเองแล้ว มีร่างกาย เราก็ลืมไปแล้ว เห็นไหมว่าพระสวย อย่างนั้น พระองค์นี้ไม่สวย องค์นี้สวย แล้วแต่จะวิจารณ์ ขณะที่ตาเรามองเห็น เราลืมตัวเองอีกแล้วลืมกายลืมใจอีกแล้ว ฉะนั้นเราจะต้องฝึก ฝึกที่จะรู้สึก วิธีการฝึกจิตใจตัวนี้ ขั้นแรกเลยทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง อะไรก็ได้ แล้วคอยรู้ทันจิตใจตัวเองเอาไว้ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ใจของตัวเองไว้

อย่างเราหัดบริกรรม พุทโธๆ หรือจะบริกรรมอย่างอื่นก็ได้ บริกรรมอะไรก็ได้ บางคนท่องสูตรคูณ 2-1-2 2-2-4 2-3-6 อย่างนี้ยังได้เลย บางคนก็ท่อง เมืองจีนไม่มี คนไทยมีพยัญชนะ ก. เอ๋ย ก. ไก่ ข. ไข่อยู่ในเล้า ตัวอักษรอะไรอย่างนี้ ท่องๆๆ ไป ไม่ไปสนใจสิ่งอื่น เราสนใจกรรมฐานของเราไว้ จดจ่ออยู่กับกรรมฐานไปเรื่อยๆ แล้วต่อมาใจเราหนีไปคิดเรื่องอื่น เราก็รู้ทัน อ้าว นี่หลงไปคิดแล้ว หรือเรากำลังหายใจเข้าพุท หายใจออกโธอยู่ ได้ยินเสียงอะไรแว่วๆ สนใจ นี่เสียงอะไร ใครมา หันไปดู หันไปหันมา เอ๊ะ ใคร ลืมตัวเองแล้ว

ฉะนั้นให้ไปทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วพอจิตใจเราหลงไปจากกรรมฐาน ให้เรารู้ทัน ทีแรกมันจะหลงยาว ต่อไปมันจะหลงสั้นลงๆๆ ต่อไปหลงปุ๊บรู้ปั๊บๆ ทุกคราวที่รู้สึก รู้ว่าหลง ทุกคราวที่รู้ว่าหลง จิตเราจะเกิดความไม่หลง เราจะเกิดความรู้สึกตัวขึ้น เพราะฉะนั้นต้องฝึกที่จะรู้สึกตัว เราจะรู้สึกตัวได้ ถ้าเมื่อเรารู้ว่าตอนนี้หลงไปแล้ว ไม่ห้ามหลง ไม่ใช่บอก อย่าหลงๆ ไม่มีใครทำได้ หลวงพ่อจะลองทดสอบให้พวกเราดู พวกเราอย่าคิด ทำได้ไหมๆ ทำไม่ได้หรอก จิตมันก็แอบคิดตลอดเวลา เวลามันคิด มันก็หลงคิดล่ะ

เพราะฉะนั้นจิตเป็นของที่เราห้ามไม่ได้ มันเป็นอนัตตา ฉะนั้นเรามาฝึก หลงแล้วรู้ ไม่ใช่ห้ามหลง ฝึก หลงแล้วรู้ๆ บ่อยๆ ในที่สุดหลงก็จะสั้นลง รู้ก็จะเกิดได้ถี่ขึ้น แต่เดิมหลงทั้งวัน ไม่เคยรู้สึกตัวเลย ต่อมาเรามาฝึกกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จิตหลงแล้วรู้ๆ วันหนึ่งอาจจะรู้ได้ 3 ครั้ง ฝึกวันต่อไป อาจจะรู้ได้ 10 ครั้ง อย่างหัดทีแรกไม่ค่อยรู้สึก หลงยาว รู้สึกน้อยครั้ง เพราะว่าวันๆ หนึ่ง สมมติวันละ 24 ชั่วโมง ถ้ามันหลงไป 20 ชั่วโมง รู้สึกได้ครั้งเดียวทั้งวัน ถ้าเราฝึกบ่อยๆ หลงไปชั่วโมงหนึ่งแล้วก็รู้ หลงไปชั่วโมงแล้วรู้ วันหนึ่งเรารู้สึกตัวได้ 10 กว่าครั้งแล้ว

ถ้าเราฝึกบ่อยๆ หัดอ่านใจตัวเองบ่อยๆ ทำกรรมฐานไป จิตหลงไปคิดก็รู้ จิตหลงไปดูรูปก็รู้ จิตหลงไปฟังเสียงก็รู้ รู้บ่อยๆ แล้วต่อไปมันจะรู้ได้เร็วขึ้นๆ ความหลงมันจะสั้นลงๆ คนที่ไม่เคยปฏิบัติหลงวันละ 1 ครั้ง คือหลงตั้งแต่ตื่นจนหลับ หลงครั้งเดียว แต่หลงเป็น 10 ชั่วโมง เรามาปฏิบัติแรกๆ เราก็จะหลง หลงอยู่ชั่วโมงหนึ่งแล้วเรารู้สึก เมื่อกี้หลงไปแล้ว ชั่วโมงหนึ่ง เดี๋ยวหลงอีก หลงไปอีกชั่วโมงหนึ่ง รู้สึกอีก วันหนึ่งเรารู้สึกตัวได้ 10 กว่าครั้งแล้ว พอเราฝึกบ่อยๆ หลงแล้วรู้บ่อยๆ ทำกรรมฐานไป จิตหลงแล้วรู้ๆ บ่อยๆ ต่อไปหลง 1 นาทีเราก็รู้แล้ว หลง 10 วินาที เราก็รู้ ต่อไปพอชำนาญ จิตขยับปุ๊บรู้ปั๊บเลย เราจะรู้ถี่ยิบเลย

เพราะฉะนั้นคนที่ภาวนาไม่เป็นหลงครั้งเดียว ส่วนคนที่ภาวนาเก่งหลงถี่ยิบเลย เพียงแต่หลงถี่ยิบเพราะว่าหลงแล้วรู้ๆๆ ในขณะที่คนภาวนาไม่เป็นหลงๆๆ หลงๆๆ หลงทั้งวัน เราจะมาฝึกให้หลงสั้นๆ รู้จะได้เกิดบ่อยๆ ทำกรรมฐานไปสักอย่างหนึ่ง อะไรก็ได้ แล้วคอยรู้เท่าทันจิตใจของตัวเอง ถ้าฝึกอย่างนี้ เราจะรู้สึกตัวเป็น พอเรารู้สึกตัวได้แล้วเราก็มาฝึกจิตให้พัฒนาต่อไป งานต่อไปก็คือทำอย่างไรจิตของเราจะมีพลัง จะมีกำลัง จิตที่มีพลังคือจิตที่มีความสงบ จิตของคนทั่วไปไม่มีพลัง เพราะจิตทำงานตลอดเวลา วิ่งไปวิ่งมาตลอดเวลา จิตมันก็เหนื่อย

 

สมถกรรมฐาน

ทำอย่างไรจิตจะได้เกิดพลัง เราก็พาจิตให้มันพักอยู่ในอารมณ์อันเดียว อันนี้เรียกว่าสมถกรรมฐาน ฝึกให้จิตมันพักอยู่ในอารมณ์อันเดียวโดยรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ ถ้าจิตมาอยู่ในอารมณ์อันเดียวแล้วเราไม่รู้สึกตัว นี่หลงอย่างร้ายแรงเลย แล้วนึกว่ากูเก่งๆ นักปฏิบัติเกือบทั้งหมดจิตมันหลง แล้วก็ไปทำสมาธิ จิตก็เคลิ้ม สงบนิ่งๆ โง่ๆ ซึมๆ อยู่อย่างนั้น ใช้ไม่ได้ ฉะนั้นเราจะทำสมถะ ก็ต้องทำด้วยความรู้สึกตัว จะทำวิปัสสนา ก็ต้องทำด้วยความรู้สึกตัว ขาดความรู้สึกตัวเสียอย่างเดียว สมถะที่ทำมันจะกลายเป็นมิจฉาสมาธิ แล้ววิปัสสนานั้นทำไม่ได้จริง จะเป็นความฟุ้งซ่านเฉยๆ

ทีนี้เราฝึกความรู้สึกตัวอย่างที่บอก ทำกรรมฐานไปแล้วคอยรู้ทันจิตตัวเองบ่อยๆ จิตมันจะรู้สึกค่อยๆ ตั้งมั่นขึ้นมา มีเรี่ยวมีแรงขึ้นมา แล้วคราวนี้เราอยากให้จิตมีกำลังมากๆ เราก็ทำกรรมฐานใหม่ อาจจะใช้กรรมฐานอย่างเดิมก็ได้ แต่ถ้าเราอยากให้จิตพักผ่อนก็คืออย่าให้จิตหนีไปจากกรรมฐานอันนั้น ถ้าจิตเดี๋ยวก็วิ่งไปดู วิ่งไปฟัง วิ่งไปดมกลิ่น วิ่งไปลิ้มรส วิ่งไปรู้สัมผัสทางร่างกาย วิ่งไปคิดทางใจ จิตวิ่งไปวิ่งมา จิตมันเหนื่อย จิตมันเหนื่อยคือจิตมันจะไม่มีแรง เราให้จิตมันได้พักผ่อนอยู่ในอารมณ์อันเดียว

อย่างหลวงพ่อ เวลาต้องการให้จิตพัก หลวงพ่อจะมาอยู่กับหายใจ หายใจเข้าพุท หายใจ ออกโธ เวลามาหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ใจไม่หนีไปที่อื่น ใจสงบอยู่กับการหายใจ สงบอยู่กับพุทโธอย่างเดียว ไม่ไปทำงานอย่างอื่น เมื่อจิตมันไม่ต้องทำงานหลายอย่าง จิตก็เริ่มมีแรง นี่คือหลักของสมถกรรมฐาน น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่องๆ คำว่าจิต คือตัวที่เป็นคนรู้อารมณ์ อารมณ์แปลว่าสิ่งที่ถูกรู้ อย่างถ้าหลวงพ่อดูดอกเบญจมาศ หลวงพ่อเป็นคนดู ดอกเบญจมาศถูกดู คนที่ไปรู้เรียกว่าจิต ส่วนสิ่งที่ถูกรู้เรียกว่าอารมณ์

ถ้าเราอยากทำความสงบ เราดูดอกไม้ เกิดเราชอบดอกไม้ เราชอบ เราก็นั่งดู ดูแล้วก็มีความสุข เรามีความสุข ใจเราก็ไม่วอกแวกไปที่อื่น มันก็ดูแต่ดอกไม้ ใจอยู่กับดอกไม้ มีแต่ความสุข นี่หลักของสมถกรรมฐาน เห็นไหมแค่ดูดอกไม้ก็เกิดสมาธิได้ เกิดสมถะ จิตสงบได้ ถ้าอยู่ๆ เราจะไปบังคับจิตให้สงบ จิตไม่สงบหรอก จิตไม่ชอบให้ใครบังคับ ให้เราน้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง เติมคำว่ามีความสุขด้วย อย่างเราเห็นดอกไม้สวยอย่างนี้ เราก็ดูดอกไม้ ขณะที่เราดูดอกไม้ สังเกตไหมเราไม่ได้สนใจสิ่งอื่นแล้ว จิตใจเราอยู่ที่ดอกไม้อันเดียว อันนี้ล่ะคือการที่จิตเราจดจ่อเข้าไปที่อารมณ์ จิตเป็นหนึ่ง อารมณ์เป็นหนึ่ง อยู่ด้วยกัน จิตเป็นหนึ่ง อารมณ์เป็นหนึ่ง มันอยู่ด้วยกัน มันไม่หนีไปหาอารมณ์ที่สอง สาม สี่ ห้า อย่างนี้ จิตมันจะสงบ

ในสมัยพุทธกาล ก็มีพระองค์หนึ่งไปภาวนา แล้วทำอย่างไรจิตก็ไม่สงบ ท่านคนนี้แต่เดิมท่านเป็นนายช่างทอง พอไปบวชแล้วไปอยู่กับพระสารีบุตร พระสารีบุตรก็คิดว่าคนหนุ่มๆ ทำงานสวยๆ งามๆ จะต้องราคะเยอะ พระสารีบุตรก็บอกลูกศิษย์องค์นี้ บอกว่าให้พิจารณาอสุภะ พิจารณาร่างกายตัวเองนี่ล่ะ ไม่สวยไม่งาม สกปรกอย่างนั้นสกปรกอย่างนี้ ทุกอย่างที่เข้าไปในตัวเราทีแรกมันก็ดี อย่างอาหาร อาหารดีๆ เข้าปากเรา พอคายออกมา ดูไม่ได้แล้ว สกปรกแล้ว ทุกสิ่งที่ออกจากร่างกายเราสกปรกทั้งหมดเลย ขี้หู ขี้ตา ขี้ฟัน เสลด น้ำลาย อึ ฉี่ เห็นไหมทุกอย่างที่ออกจากตัวเราสกปรกทั้งนั้น เหงื่ออย่างนี้ออกมาใช่ไหม มีขี้ไคลออกมาอะไรนี่

พระสารีบุตรก็สอนลูกศิษย์ ไม่ต้องสนใจเรื่องอื่นเลย พิจารณาลงไป ร่างกายนี้มีแต่ปฏิกูลอสุภะ ปรากฏว่าองค์นี้จิตท่านไม่ชอบ จิตไม่ชอบ พิจารณาปฏิกูลอสุภะ จิตรำคาญ จิตไม่สงบเลย สุดท้ายท่านท้อแท้ใจ ท่านก็อยากสึกแล้ว บวชมาตั้งนานแล้วไม่เห็นได้ผลเลย ทำความสงบไม่สำเร็จ นี่ยังไม่ขึ้นวิปัสสนาเลย นี่เรื่องของสมถะ ทำความสงบยังทำไม่ได้เลย ท่านท้อแท้ใจ ท่านก็จะสึก ตอนที่กำลังจะสึก ไปเจอพระพุทธเจ้าเข้าพอดี พระพุทธเจ้าท่านก็บอกว่ามาบวช ยังไม่ได้เรียนธรรมะกับท่านเลย จะสึกแล้ว เอาอย่างนี้ๆ ท่านเพิ่งไปบิณฑบาต ได้ดอกบัวแดงมา

ดอกบัวสีแดงของอินเดีย ดอกมันโต ถ้าเป็นที่เมืองไทยดอกมันจะเล็กๆ ไม่สวยหรอก ดอกบัวแดงของเมืองไทย พอพระอาทิตย์ขึ้นมันก็เหี่ยวแล้ว แต่ของอินเดียมันบานอยู่ได้ พระพุทธเจ้าท่านได้ดอกบัวแดงมา ท่านก็บอกให้พระองค์นี้เอาดอกบัวแดงไปปักบนพื้นทรายข้างกุฏิ แล้วไปนั่งดูดอกบัว มันสวยดี องค์นี้ได้ดอกบัวสวยมา พอใจ เอามาปักดินไว้ข้างกุฏิ แล้วก็นั่งดูไป โอ้ สวยจัง สีแดงสวยจัง เห็นไหม ใจของพระองค์นี้ชอบของสวยของงาม ไปดูดอกไม้ที่สวยงาม ใจไม่วอกแวกไปที่อื่นเลย ใจเห็นแต่ดอกไม้สวย ลืมคิดเรื่องอื่น ลืมฟุ้งซ่าน จิตอยู่ในอารมณ์อันเดียวคืออยู่กับดอกไม้สวย นี่คือสมถกรรมฐาน

เคล็ดลับของสมถกรรมฐานก็คือหาอารมณ์ที่จิตมันชอบ แต่ดูแล้วต้องไม่มีกิเลส ดูแล้วกิเลสแรง จิตนี้ชอบดูรูปโป๊อย่างนี้ ไปนั่งดู ไม่รวมหรอก จิตยิ่งฟุ้งซ่านหนักกว่าเก่าอีก องค์นี้ท่านชอบดอกไม้แดง ท่านไปนั่งดู หรือหลวงพ่ออยู่ตรงนี้ ดูดอกเบญจมาศ มันสวยจัง ดูไปดูมา ใจอยู่ที่ ดอกไม้ การที่จิตเราสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว นี่ล่ะคือสมถกรรมฐาน จิตได้พักผ่อนแล้ว ไม่ วอกแวกไปที่อื่น เพราะฉะนั้นเคล็ดลับของการทำสมถะอยู่ที่รู้จักเลือกอารมณ์กรรมฐาน หลวงพ่อ หายใจเข้าพุทออกโธ หลวงพ่อมีความสุข ฉะนั้นหลวงพ่อหายใจเข้าพุทออกโธปุ๊บ สงบเลย

พระองค์เมื่อกี้นี้ท่านชอบดอกบัวแดง ท่านดูดอกบัวแดง ดูไปเรื่อยๆ ใจมีความสุข เพราะฉะนั้นถ้าเรารู้จักปฏิบัติ เราไม่ต้องเลียนแบบคนอื่น เราดูว่าใจเราอยู่กับอารมณ์อันไหนแล้วมี ความสุข เราอยู่กับอารมณ์อันนั้น แต่ละคนไม่เหมือนกัน อย่างพระสารีบุตรจะให้ลูกศิษย์พิจารณาอสุภะ ถ้าพิจารณาได้ จิตก็สุข จิตมันข่มราคะลงไปมันก็สงบสุขได้ แต่คนนี้ไม่ชอบ องค์นี้ไม่ชอบ พระพุทธเจ้าให้ไปดูดอกบัวแดง ชอบ พอชอบใจไม่วอกแวกไปที่อื่น ใจก็สงบ

เคล็ดลับของการทำสมถะให้ใจสงบก็คือการรู้จักเลือกอารมณ์ สังเกตตัวเองว่าเราอยู่กับอารมณ์กรรมฐานอะไรแล้วจิตใจเรามีความสงบมีความสุข ความสุขของสมาธิ สมาธิ ถ้าทำแล้วมันมีความสุข สิ่งที่ทำให้สมาธิเกิดคือความสุข ความสุขเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิ นี่เป็นกฎของธรรมะข้อหนึ่งเลย ถ้าเราทำกรรมฐานแล้วเราไม่มีความสุขเลย ทรมานมากเลย ใจไม่สงบ ใจจะวอกแวกๆ เพราะฉะนั้นไปดูตัวเอง อยู่กับกรรมฐานอะไรแล้วมีความสุข ก็อยู่กับกรรมฐานอันนั้นไป อย่าอยากสงบ

ถ้าอย่างหลวงพ่อหายใจแล้วเมื่อไรจะสงบๆ รับรองไม่สงบ อย่างหลวงพ่อเวลาทำความสงบสมัยแรก หายใจเข้าพุทหายใจออกโธไป จิตสงบก็รู้ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ จิตเฉยๆ ก็รู้ จิตรำคาญก็รู้ หายใจไป มันจะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน แต่เราอยู่กับลมหายใจของเราไปเรื่อยๆ ฉะนั้นอย่างเราดูดอกไม้ ดูแล้วใจเราจะเกิดราคะ มีความสุข หรือจะเป็นอย่างไร ช่างมัน ไม่ต้องไปสนใจมัน ให้จิตจดจ่ออยู่ใน อารมณ์อันเดียวไว้ ถ้าทำอย่างนี้ได้ ใจเราจะสงบ

อย่างเวลานี้ หลวงพ่อจะทำความสงบ ไม่ทำอะไรยากเลย รู้ลงไปเฉยๆ ก็สงบแล้ว อยู่ที่การฝึกของเรา ฝึกให้ชำนาญ ต่อไปพอเราชำนาญ เราอยู่กับดอกไม้แล้วจิตสงบได้ พอชำนาญจริงๆ เราหันไปเห็นอะไร อยากสงบเมื่อไรเราก็สงบได้เลย มันอยู่ที่ความชำนาญของเรา อย่างบางคนเริ่มต้นจุดไฟไว้ดวง จุดเทียนไว้แล้วก็ดูไฟ ใจชอบไฟ บางคนมันชอบไฟ เด็กบางคนชอบเล่นไฟยันไฟไหม้บ้านเลย บางคนชอบไฟ ก็จุดเทียนไว้เล่มหนึ่งแล้วก็ดูไฟ มันไหวๆ ไหวๆ ไป ดูแล้วมีความสุข จิตก็จดจ่ออยู่กับไฟ ไม่สนใจหรอกว่าจะสงบหรือไม่สงบ จะดีหรือไม่ดี ไม่สนใจเลย จิตใจจดจ่ออยู่กับไฟอย่างเดียวเลย นั่นล่ะคือการทำสมถกรรมฐาน มีจิตเป็นหนึ่ง มีอารมณ์เป็นหนึ่ง คือไฟ อยู่ด้วยกัน

หลวงพ่อเคยฝึกกสิณไฟ กสิณน้ำก็เคยเล่น บ้านอยู่ริมคลองมีเวลาว่างๆ ก็ไปนั่งริมคลอง เห็นน้ำมันไหลไป มีลมพัดพลิ้วๆๆ เห็นน้ำเป็นระลอกเล็กๆ เล็กๆ ดูแล้วมีความสุข พอมีความสุข ใจ มันสงบ เห็นไหม เราอยู่กับอารมณ์กรรมฐานแล้วเรามีความสุข ใจเราก็สงบ เห็นไหมว่าอารมณ์กรรมฐานไม่เลือกเลย อะไรก็ได้ ขอให้อยู่แล้วมีความสุขเท่านั้นล่ะ แต่อารมณ์นั้นต้องไม่ทำให้กิเลส เราแรงเกินไป อย่างไปดูหนังโป๊แล้วบอกมีความสุข อันนี้ไม่ได้หรอก กิเลสมันแรง หรือไปด่าคนแล้วมีความสุข อย่างนี้ไม่ได้ ด่าไปด่ามา กิเลสเรายิ่งแรง อย่างนี้ไม่ดี เอากรรมฐาน อารมณ์อะไรที่มันไม่ยั่วให้กิเลสรุนแรง แล้วเรารู้ไป มีใจที่ธรรมดาๆ ไปรู้กรรมฐานอย่างมีความสุข ไม่นานจิตจะสงบ สิ่งที่ได้มาคือจิตจะมีพลัง เรื่องที่มีฤทธิ์มีเดช มีพลังจิตอย่างโน้นอย่างนี้ เกิดจากการทำสมถกรรมฐาน

 

วิปัสสนากรรมฐาน

ถัดจากนี้ไปจะขึ้นเรื่องวิปัสสนากรรมฐาน สมถกรรมฐานทำให้จิตใจเรามีกำลัง แล้วเราจะขึ้นวิปัสสนาอย่างไร หลักของวิปัสสนาก็คือการเรียนรู้ความจริงของกายของใจ เรียนรู้ความจริงของสิ่งที่เรียกว่าตัวเราเอง สิ่งที่เรียกว่าตัวเราแยกออกมาก็คือร่างกายกับจิตใจ ฉะนั้นเราจะเรียนรู้ความจริงของร่างกาย เราจะเรียนรู้ความจริงของจิตใจ

เราจะเรียนรู้ความจริงของร่างกายจิตใจได้ อันแรกเลย จิตเราจะต้องแข็งแรงมีกำลัง ถ้าจิตใจฟุ้งซ่านปวกเปียกๆ อยู่ เดี๋ยวก็หนีไปทางโน้น เดี๋ยวก็หนีไปทางนี้ ไม่สามารถเจริญปัญญาได้เพราะว่าจิตมันฟุ้งซ่าน ฉะนั้นเราฝึกให้จิตมันตั้งมั่นขึ้นมา มีแรง จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวแล้ว แล้วมันหลงไปเราก็รู้ทัน พอรู้ทันมันก็ตั้งมั่น ความตั้งมั่นของเราก็จะแข็งแรงขึ้นๆ ในที่สุดมันจะตั้งมั่นมากเลย หลงไปแล้วรู้ๆ นี่ล่ะ ทำไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งจิตจะตั้งมั่น พอจิตไหลไปปุ๊บ มันจะรู้ปั๊บ ทันทีที่รู้ว่าจิตหลงไป จิตหลงจะดับ จิตที่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ มันจะเกิดขึ้นอัตโนมัติ ต้องฝึกตัวนี้

ที่หลวงพ่อสอนจริงๆ มันมีอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้ได้จิตที่ตั้งมั่นคือการฝึกเข้าฌานที่ถูกต้อง แต่ว่ามาเรียนกันปุ๊บปั๊บอย่างนี้ไม่สำเร็จหรอก ต้องฝึกกันนาน เป็น 10 ปีเลยกว่าจะเข้าฌานได้ จริงๆ ต้องฝึกนานมากๆ ถ้าเรายังไม่ได้เคยฝึก มันมีอีกวิธีที่ง่ายๆ อาศัยการรู้ทันจิตตัวเอง เหมือนตอนที่ฝึกรู้สึกตัวนั่นล่ะ เพราะจิตตั้งมั่นคือจิตที่รู้สึกตัว ฉะนั้นเราทำกรรมฐานแล้วจิตไหลไปคิดเรื่องอื่น รู้ทัน จิตไหลไปเพ่ง รู้ทัน ทำตัวนี้เยอะๆ แล้วต่อไปจิตมันจะอยู่กับตัวเอง พอมันหลงปุ๊บรู้ปั๊บๆ หลงไปคิดก็รู้ หลงไปดูก็รู้ พอมันรู้ตัวบ่อยๆๆ จิตมันจะตั้งมั่น แล้วมันเหมือนเราจะตื่นขึ้นอย่างแท้จริง

คนในโลกไม่มีใครตื่น มีแต่คนฝัน นอนหลับก็ฝันไป ตื่นก็หลงไปอยู่ในโลกของความคิด ก็คือฝันกลางวัน ก็หลงนั่นล่ะ ฉะนั้นเราฝึก หลงแล้วรู้ๆๆ ไปเรื่อยๆ ถ้าต้องการพักผ่อนก็น้อมจิตไปอยู่ใน อารมณ์อันเดียวที่มีความสุข พออยู่ในอารมณ์เดียวที่มีความสุขพอสมควรแล้ว จิตใจสดชื่นพอแล้ว ถอยออกมา อย่าไปติดอยู่ที่ตัวอารมณ์ กลับมาทำกรรมฐานแล้วก็หลงแล้วรู้ๆ ไปบ่อยๆ จิตมันจะตั้ง มั่น พอจิตมันตั้งมั่นได้ เราถึงจะเจริญปัญญาได้ ทันทีที่จิตเราตั้งมั่น เราจะสามารถแยกได้ ร่างกายกับจิตนี้เป็นคนละอันกัน

การที่เราแยกร่างกายเป็นอันหนึ่ง จิตเป็นอันหนึ่ง นี่คือการเจริญปัญญาขั้นที่หนึ่ง เป็นการเจริญปัญญาขั้นที่หนึ่ง เราแยกเห็นว่าร่างกายก็อันหนึ่ง จิตก็อันหนึ่ง พวกเราฟังหลวงพ่อพูดมานี่ ส่วนใหญ่ของเราจะมีสมาธิขึ้นมาแล้ว ลองรู้สึกลงไปที่ร่างกาย รู้สึกไหมร่างกายเป็นของที่ถูกรู้ จิตเราเป็นคนรู้ เห็นร่างกายมันนั่ง เห็นร่างกายหันไปหันมา เห็นร่างกายขยับ จิตมันเป็นคนดู มันจะดูเหมือนเห็นร่างกายคนอื่น เหมือนเห็นหุ่นยนต์สักตัวหนึ่งที่กระดุกกระดิกได้ ดูร่างกายที่ขยับเขยื้อนไป เราจะเห็นเลยร่างกายกับจิตใจเป็นคนละอันกัน

ไปฝึกต่อเอา ไปฝึกต่อ ยังมีเวลาหลายวัน ทำตามที่หลวงพ่อบอก ทำไปตามลำดับๆ แล้วตอนไหนดูร่างกายกับจิตใจ ดูไม่รู้เรื่องแล้ว มั่วไปหมดแล้ว แยกไม่ออกแล้ว กลับไปทำความสงบใหม่ พอจิตมีกำลังสดชื่นแล้วก็มารู้ใหม่ เห็นว่าร่างกายก็เป็นของถูกรู้ ร่างกายนี้ก็เหมือนดอกไม้ดอกหนึ่งนั่นล่ะ อย่างที่เราฝึกทีแรก เราดูดอกไม้ จิตเราเป็นคนดู แล้วจิตเราเข้าไปแนบกับดอกไม้ วิธีที่เดินปัญญา เห็นไหมร่างกายก็เหมือนดอกไม้ จิตเราเป็นคนดู ถ้าจิตเราไหลลงไปในร่างกาย ให้รู้ทัน จิตเคลื่อนไปแล้ว ขณะนี้เรียกว่าไม่รู้สึกตัวแล้ว พอรู้ว่าจิตเคลื่อนไปที่ร่างกายปุ๊บ มันจะดีดตัวออกมาเป็นผู้รู้ แล้วมันจะเห็นว่าร่างกายก็อันหนึ่ง จิตที่เป็นผู้รู้ก็เป็นอีกอันหนึ่ง กายกับจิตมันจะแยกออกจากกัน

ถ้าเราเดินมาทางฌาน แล้วเราเคยเข้าฌานจนถึงว่าร่างกายหายไป โลกนี้หายไป เหลือแต่จิตดวงเดียว แล้วพอมีร่างกายขึ้นมา ความรู้สึกของเราจะรู้เลยกายกับจิตคนละอันกัน แล้วต่อไปนี้กายกับจิตจะไม่ไหลเข้าไปรวมกันแล้ว มันจะเป็นคนละอันกันเด็ดขาดเลย แต่ถ้าเราไม่ได้ทรงฌาน เดี๋ยวใจมันก็ไหลเข้าไปรวมกับร่างกาย ก็กลายเป็นร่างกายของเรา พอมีกำลัง จิตมีแรงขึ้นมา ถอนตัวออกมา แล้วเห็นว่ากายกับจิตเป็นคนละอันกัน ค่อยเดินปัญญาต่อ เราพยายามฝึก ฝึกรู้สึกตัวขึ้นมา พอสติระลึกร่างกาย ก็เห็นร่างกายไม่ใช่ตัวเรา พอสติระลึกรู้ความรู้สึกสุขทุกข์ ก็เห็นอีกความรู้สึกสุขทุกข์ก็ไม่ใช่ตัวเรา พอสติระลึกรู้กุศล หรือโลภ โกรธ หลง ก็เห็นกุศลก็ไม่ใช่ตัวเรา ความโลภ ความโกรธ ความหลง ก็ไม่ใช่ตัวเรา

อย่างคนทั่วไปเวลาโกรธ มันไม่รู้ว่าโกรธ คนทั่วไปที่ไม่เคยฝึก เวลาโกรธจะไปดูคนที่ทำให้โกรธ จิตมันจะหลงไปที่คนอื่น มันจะหลงไปดู คนนี้มาหาเรื่องเรา เราจะคอยจ้องมัน มันจะทำอะไร คอยดูมันทั้งวันเลย แทนที่จะดูตัวเอง ก็จะไปดูคนที่ทำให้โกรธ คนทั่วไปไม่เคยฝึกกรรมฐาน เวลาโกรธจะไปดูคนที่ทำให้โกรธ หรือหมามาเห่าใส่เรา เราโกรธหมา เราจะคอยดูหมา เราไม่รู้ว่าใจกำลังโกรธ เราต้องคอยฝึกแล้วจะเห็นเลย ใจมันพร้อมจะไหลไปๆ เวลาคนไม่เคยปฏิบัติ ใจมันจะไหลไปที่อารมณ์ แล้วก็ไปจมไปแช่อยู่ แล้วก็ลืมตัวเอง

ถ้าเราเคยฝึก เราก็จะเห็นใจเราไหลไปที่ความโกรธ ใจกับความโกรธเป็นคนละอันกัน ความโกรธเป็นสิ่งที่ใจไปรู้เข้า เหมือนร่างกายนั่นล่ะ เป็นสิ่งที่ใจไปรู้เข้า ความสุขความทุกข์ก็เป็นสิ่งที่จิตใจเราไปรู้เข้า ความโลภ โกรธ หลงก็เป็นสิ่งที่จิตใจเราไปรู้เข้า พอเราแยกได้อย่างนี้ เราจะรู้เลยว่าร่างกายก็ไม่ใช่จิตใจ ความสุขความทุกข์ก็ไม่ใช่จิตใจ กุศลหรืออกุศลก็ไม่ใช่จิตใจ จิตใจไม่มีบุญ จิตใจไม่มีบาป จิตใจเป็นธรรมชาติกลางๆ

ถ้าเวลาความโลภมาครอบงำ มันก็เป็นจิตโลภ เวลาความโกรธมาครอบงำ มันก็เป็นจิตโกรธ เวลาความหลงมา ความฟุ้งซ่านมา มันก็เป็นจิตหลง จิตฟุ้งซ่าน เวลาความหดหู่มา มันก็กลายเป็นจิตหดหู่ จิตโดยตัวมันเองไม่เป็นอะไร มันเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์เฉยๆ แต่มันถูกอารมณ์ ถูกความ ปรุงแต่งต่างๆ เข้ามาย้อม ถูกความโลภ โกรธ หลงเข้ามาย้อม ถูกสุขทุกข์เข้ามาย้อม แต่พอเราฝึกดีๆ เราจะเห็นร่างกายก็ส่วนหนึ่ง ความสุขทุกข์ก็ส่วนหนึ่ง กุศลอกุศลก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง จิตใจที่เป็น คนรู้คนดูก็อยู่อีกส่วนหนึ่ง นี่เรียกว่าเราสามารถแยกขันธ์ได้แล้ว

ความจริงแยกขันธ์ได้เริ่มตั้งแต่เห็นร่างกายกับจิตใจเป็นคนละอัน ต่อมาพอชำนาญขึ้น เราก็จะเห็นได้ละเอียดขึ้น เวทนา คือความรู้สึกสุขทุกข์กับจิตใจก็เป็นคนละอัน กุศลกับอกุศลกับจิตใจก็เป็นคนละอันกัน ความโกรธไม่ใช่จิตๆ เป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาในจิตเราชั่วคราว แล้วเดี๋ยวมันก็ดับไป พอแยกออกมาได้ เรียกว่าเราแยกขันธ์ได้ คราวนี้แต่ละขันธ์จะแสดงธรรมะให้เราดูแล้ว ที่ผ่านมาขันธ์ไม่สามารถแสดงธรรมะให้เราดู เพราะจิตของเราหลง หลงไปวุ่นวาย เวลาดูร่างกายก็ไปหลง ว่านี่ตัวเรา เวลาเห็นความสุขทุกข์ก็เราสุขเราทุกข์ เวลาเกิดกุศลอกุศล นี่ตัวเราโกรธ ตัวเราโลภ ตัวเราหลง มีเราขึ้นมาตลอดเลย

แต่ถ้ามันแยกกันออกมา มันจะแยกออกมาแล้ว มันจะรู้เลยว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเรา เป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า ความสุขความทุกข์ก็ไม่ใช่ตัวเรา เป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า กุศลอกุศลก็ไม่ใช่ตัวเรา เป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า อย่างนี้เรียกว่าเราหมายรู้ถูกแล้ว สัญญา คือตัวจำได้ตัวหมายรู้ จำได้เป็นเรื่องปกติ แต่หมายรู้ มันมีหมายรู้ถูกกับหมายรู้ผิด คนทั่วไปมันหมายรู้ผิดตลอด เพราะมันมีมิจฉาทิฏฐิ เวลานึกถึงร่างกายก็นี่ตัวเรา นี่ร่างกายเรา นี่ความสุขความทุกข์ของเรา นี่กุศลอกุศลของเรา เราโลภ ตอนนี้เราโกรธอะไรอย่างนี้ จะมีเราแทรกมาตลอด มันหมายรู้ผิดว่ามีเรา

 

แยกจิตเป็นผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้

แต่ถ้าเราคอยแยกขันธ์ไปเรื่อยๆ ร่างกายก็อันหนึ่ง สุขทุกข์ก็อันหนึ่ง ดีชั่วก็อันหนึ่ง จิตที่เป็นคนรู้ก็อยู่อีกอันหนึ่ง แล้วพอมันแยกได้ เราจะเห็นเลย ร่างกายกับจิตมันคนละอันกัน เราจะหมายรู้ถูกขึ้นมาได้ว่าร่างกายไม่ใช่จิต ร่างกายไม่ใช่ตัวเรา ความสุขความทุกข์ เราก็หมายรู้ถูกขึ้นมา ความสุข ความทุกข์มันมาเอง มันไปเอง เราควบคุมไม่ได้ บังคับไม่ได้ มันไม่ใช่ตัวเราหรอก หมายรู้ถูกแล้วว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา หรือโลภ โกรธ หลง คนทั่วไปมันก็คือโลภ โกรธ หลงแล้วไม่รู้ ส่วนนักปฏิบัติ เราโลภ เราโกรธ เราหลง พอเราภาวนาเก่งขึ้น เราจะเห็นความโลภ โกรธ หลงกับจิตมันเป็นคนละอันกัน จิตไม่ได้โลภ จิตไม่ได้โกรธ จิตไม่ได้หลง แล้วเราก็จะเห็นโลภ โกรธ หลงเป็นของไม่เที่ยง มาเองไปเอง

โกรธ ใครเคยโกรธนานๆ บ้าง มีไหม ใครเคยโกรธปีหนึ่ง มีไหม ใครเคยโกรธ 3 วัน มีไหม เวลาเราอกหัก ใครเคยอกหักไหม หรือแฟนเราทิ้ง โกรธไหม เสียใจไหม เสียใจ บางคนเสียใจหลายวันใช่ไหม ในความเป็นจริงไม่ใช่ เสียใจเป็นขณะๆ สมมติว่าเรามีแฟน แฟนเราทิ้งเราไป ในขณะนั้นเราเสียใจมากเลย แล้วกำลังเดินๆ เศร้าใจอยู่ริมถนน คล้ายๆ นางเอกฟังเพลงแบบเขาเล่นเปิดวีดีโอ ฟังเพลงไปแล้ว แหม เศร้าเหลือเกิน กําลังเศร้าๆ กำลังสวมวิญญาณนางเอกเดินเศร้าใจไปริมถนน เห็นหมาบ้าวิ่งมา ตอนนั้นลืมเรื่องอกหักแล้วตอนนั้น ตอนนั้นไม่เศร้าแล้ว ตอนนั้นกลัวหมา เห็นไหมมันไม่มีหรอกความเศร้าตลอดกาล ไม่มีหรอก มีแต่เศร้าเวลาคิดถึงเรื่องที่ทำให้เศร้า

ความโกรธตลอดกาลก็ไม่มี มันโกรธตอนที่คิดถึงเรื่องที่ทำให้โกรธ มันแค่นั้นเอง แล้วเราก็จะเห็น ร่างกายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา ความรู้สึกสุขทุกข์ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา กุศลอกุศลทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตของเราก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเหมือนกัน จิตเดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้หลง เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวเป็นผู้ไปคิด เดี๋ยวเป็นผู้รู้ เดี๋ยวเป็นผู้ไปดูรูป เดี๋ยวเป็นผู้รู้ เดี๋ยวเป็นผู้ไปฟังเสียง เดี๋ยวเป็นผู้รู้ เดี๋ยวเป็นผู้ไปดมกลิ่น เดี๋ยวเป็นผู้รู้ เดี๋ยวเป็นผู้ไปรู้รส เดี๋ยวเป็นผู้รู้ เดี๋ยวเป็นผู้รู้สัมผัสทางร่างกาย เห็นไหมลืมอีกแล้ว ไปรู้การสัมผัสร่างกาย ไปรู้ ลืมไปแล้วว่าจิตไหลไปแล้ว

กระทั่งตัวจิตเองก็เกิดดับ เดี๋ยวก็ไปเกิดที่ตา เดี๋ยวก็ไปเกิดที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย เดี๋ยวก็ไปเกิดทางใจ ไปอยู่ในโลกของความคิดความฝัน เราเห็นกระทั่งตัวจิตก็เกิดดับๆ นี่คือการทำวิปัสสนากรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐานคือการเจริญปัญญา จิตเรามีกำลังพอแล้ว เราก็ดูไป รู้สึกตัว แล้วจิตเรามีกำลังพอ ขันธ์มันจะแยก ร่างกายส่วนหนึ่ง สุข ทุกข์ ดี ชั่ว อยู่คนละส่วนกัน จิตเป็นคนรู้อยู่อีกส่วนหนึ่ง แล้วต่อไปมันเดินปัญญา มันเห็นร่างกายมันก็ของไม่เที่ยง

ร่างกายที่หายใจออกเที่ยงไหม ใครหายใจออกอย่างเดียว ก็ตายเลย หายใจออกอย่างเดียวใช่ไหม แค่ร่างกายที่หายใจออกก็ไม่เที่ยงแล้ว เดี๋ยวก็ต้องหายใจเข้า หายใจเข้าก็ไม่เที่ยง เดี๋ยวก็ต้องหายใจออก มันสลับไปเรื่อย นั่งอย่างเดียวได้ไหม ได้ ถ้าเป็นพิการกระดุกกระดิกไม่ได้ นั่งไปเรื่อยๆ เดี๋ยวตัวก็เน่า นอนเฉยๆ กระดุกกระดิกไม่ได้ ผู้ป่วยติดเตียง ไม่มีใครช่วยพลิก เดี๋ยวเดียวก็ตัวเน่าแล้ว ไม่กี่ชั่วโมง ร่างกายเรามีแต่ทุก มีความทุกข์บีบคั้น แล้วเราก็สั่งอะไรมันไม่ได้ สั่งว่าอย่าแก่ก็ไม่ได้ อย่าเจ็บก็ไม่ได้ อย่าตายก็ไม่ได้

พอจิตเราตั้งมั่น เราจะเห็นร่างกายมันเป็นไตรลักษณ์ จิตตั้งมั่นอยู่ เราก็เห็นเลย เวทนา ความรู้สึกสุขทุกข์เกิดแล้วก็ดับไป มาเองไปเอง ถ้าสั่งได้ตามใจชอบ เราก็สั่งว่าจงมีแต่ความสุข จงอย่าทุกข์ สั่งได้ไหม จงอย่าทุกข์ต่อไปนี้ สั่งไม่ได้ สั่งไม่ได้คืออะไร คือคำว่าอนัตตา แล้วความสุขเที่ยงไหม ความสุขก็ไม่เที่ยง ความสุขก็อยู่ชั่วประเดี๋ยวประด๋าวในเวลาที่เราคิดถึงอารมณ์ที่มี ความสุขอันนั้น อย่างเราถูกหวย เกิดถูกหวย เรามีความสุข นึกถูกหวยรวยแล้ววันนี้ แล้วพอดีเพื่อนมาชวนคุยเรื่องอื่น เรากลัวว่ามันจะรู้หรือเปล่าว่าเราถูกหวย เดี๋ยวมันจะมายืมเงิน ตอนที่กลัวเพื่อนยืมเงินมีความสุขไหม ไม่มีแล้ว หวยยังไม่ได้ไปรับเลย ทีแรกมีความสุข ยังไม่ได้ไปรับเงินเลย พอกลัวเขาจะมาเอาเงินนี้ ไม่มีความสุขแล้ว เห็นไหมกระทั่งความสุขก็ไม่เที่ยง

เราหัดดูของจริงไปเรื่อย เราจะเห็นเลยร่างกายก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ความสุข ความทุกข์ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา คือสั่งไม่ได้ จะสั่งให้สุขหรือห้ามทุกข์ ก็ทำไม่ได้ กุศลอกุศลทั้งหลายก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ถ้าเราสั่งได้จิตจงเป็นกุศลตลอดกาล สั่งได้ที่ไหน เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย คุ้มดีคุ้มร้ายทั้งวัน ดูของจริง จิตที่ดีก็อยู่ชั่วคราว จิตที่โกรธก็อยู่ชั่วคราว จิตที่โลภมันก็อยู่ชั่วคราว จิตทุกชนิดอยู่ชั่วคราว ดูไปเรื่อยๆ เราจะเห็นแต่ของชั่วคราว จิตนี้ไม่เที่ยง และจิตเราจะเป็นอย่างไร เราสั่งไม่ได้ นั่นคืออนัตตา เฝ้ารู้เฝ้าดูไป หรือจิตเราจะดูรูป หรือจิตเราจะฟังเสียง หรือจิตเราจะดมกลิ่น หรือจิตเราจะไปคิด เราเลือกไม่ได้ๆ จิตมันทำงานของมันได้เอง

ลองพิสูจน์ดู ลองดูพระพุทธรูปแล้วอย่าคิด ทำได้ไหม พวกหนึ่งก็จะคิด ทำอย่างไรจะไม่คิดๆ ตอนนี้ไม่คิดแล้วล่ะ ยังมีหน้ามาบอกอีก ตอนนี้ไม่คิดแล้วล่ะ กำลังคิดอยู่แท้ๆ มันสั่งไม่ได้ จิตมันเป็นอนัตตา การที่เราคอยเห็นขันธ์ 5 ร่างกาย เวทนา สุข ทุกข์ สังขาร ดี ชั่ว จิต เรียกวิญญาณขันธ์ แล้วหมายรู้ การหมายรู้ บางทีก็หมายรู้ถูก บางทีก็หมายรู้ผิด ส่วนใหญ่หมายรู้ผิด สังขาร สัญญา การหมายรู้ ก็หมายรู้ไม่ได้ตามใจชอบ อยู่ๆ เราจะไปหมายรู้ว่าร่างกายเป็นไตรลักษณ์อย่างนี้ สั่งมันได้ที่ไหน ต้องค่อยๆ ให้การเรียนรู้มัน การได้ยินได้ฟังธรรมะ ร่างกายไม่ใช่ตัวเราอะไรอย่างนี้ ค่อยได้ยินได้ฟังไป แล้วต่อมาก็สังเกตเอาว่ามันไม่ใช่ มันเป็นไตรลักษณ์จริงๆ ไม่มีอะไรในตัวเราที่เราสั่งได้ พูดง่ายๆ ตัวเราไม่มี

ถ้าเราทำสมถะ จิตสงบมีกำลัง แล้วก็อัปจิตขึ้นมาทำวิปัสสนา แยกจิตเป็นผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ แยกออกจากกัน ร่างกาย สุข ทุกข์ ดี ชั่วถูกรู้ จิตเป็นคนรู้ แล้วเราก็เห็นทุกสิ่งทุกอย่างเกิดดับ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ เห็นซ้ำๆ ซ้ำๆ ไป ถึงจุดหนึ่งอริยมรรคจะเกิด อริยมรรคจะเกิดได้ เมื่อศีล สมาธิ ปัญญาของเราสมบูรณ์ ศีลสมบูรณ์ก็คือศีลอัตโนมัติ ไม่ได้เจตนาทำผิดศีลเลย ไม่มีเจตนาที่จะรักษาศีลด้วย แต่จิตมันไม่เอา จิตมันมีสติ มันรู้ทันจิตใจตัวเอง ถ้ามันคอยรู้ทันจิตใจตัวเองได้ มันจะไม่ทำผิดศีลโดยอัตโนมัติ เป็นอัตโนมัติเลย คนทำผิดศีลเพราะกิเลสมันครอบงำจิต ถ้าเรามีสติรู้ทันจิตตัวเอง กิเลสครอบงำจิตไม่ได้ มันจะไม่ผิดศีล ศีลอัตโนมัติจะเกิด

แล้วการที่เรามีสติรู้เท่าทันจิตตัวเอง จิตไหลไปทางโน้นก็รู้ จิตหนีไปทางนี้ก็รู้ จิตจะตั้งมั่น ไม่ไหลไปไหลมา จิตจะทรงสมาธิอัตโนมัติขึ้นมา รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ แล้วการที่เรารู้ตัวอยู่ สติระลึกรู้ร่างกาย ก็เห็นไตรลักษณ์ของร่างกาย ไม่ได้เจตนาคิด สติระลึกรู้เวทนา ก็เห็นไตรลักษณ์ของเวทนา ไม่ได้เจตนาคิด สติระลึกรู้สังขาร ความปรุงดีปรุงชั่ว ก็เห็นไตรลักษณ์ของสังขาร ไม่ได้เจตนา ไม่ได้เจตนาจะเห็นไตรลักษณ์ มันเห็นเอง แล้วตัวจิตเองก็เกิดดับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่เจตนาจะเห็น ก็เห็นเอง ตรงที่เราไม่ได้เจตนานี่ล่ะตัวสำคัญ ตัวสำคัญมาก ต้องฝึกจนสามารถรู้ตัวขึ้นมา เดินปัญญาโดยไม่มีเจตนา

ตัวนี้มันเป็นกุญแจสำคัญ ตราบใดที่ยังมีเจตนาอยู่ เจตนาคือตัวกรรม คือการทำงานของจิต ตัวกรรม เขาเรียกว่าตัวภพ ความปรุงแต่ง ฉะนั้นเจตนาเป็นตัวทำให้เกิดการกระทำกรรมของจิต การกระทำกรรมของจิตก็คือการสร้างภพสร้างชาติของจิตนั่นเอง เพราะฉะนั้นเราจะต้องฝึก จนกระทั่งรู้ตัวขึ้นมาอัตโนมัติ มีจิตตั้งมั่น มีจิตสงบอัตโนมัติ มีจิตตั้งมั่นอัตโนมัติ เดินปัญญาอัตโนมัติ เดินปัญญาอัตโนมัติคือสติระลึกรู้ในขันธ์ 5 เห็นไตรลักษณ์เลย ไม่ต้องคิดเลย ฝึกจนมันเป็นอัตโนมัติ ตรงที่เป็นอัตโนมัติแล้วไม่มีเจตนา เมื่อไม่มีเจตนา การสร้างภพจะไม่เกิดขึ้น จิตจะหยุดการกระทำกรรม

 

อริยมรรค อริยผล

เวลาที่อริยมรรคจะเกิด ไม่มีใครเจตนาให้มรรคผลเกิดได้ มรรคผลเกิดโดยไม่มีเจตนาให้เกิด แต่มรรคผลเกิดเอง เมื่อศีล สมาธิ ปัญญาของเราสมบูรณ์ ศีล สมาธิ ปัญญาสมบูรณ์ ก็คือศีลอัตโนมัติ สมาธิอัตโนมัติ ปัญญาอัตโนมัติ พอมันอัตโนมัติแล้ว ไม่ต้องเจตนาที่จะมีศีล ไม่ต้องเจตนาที่จะให้จิตตั้งมั่นหรือจิตสงบ ไม่ต้องเจตนาที่จะเจริญปัญญา เมื่อหมดเจตนา จิตก็หมดความดิ้นรน จิตจะรวม จิตมันจะรวม ถึงเราไม่เคยเข้าฌาน แต่นาทีที่อริยมรรคจะเกิด จิตจะรวมเข้ามาเอง อัตโนมัติเลย ไม่ได้เจตนา ไม่เคยเข้าฌานมาก่อนเลย แต่ขณะนั้นจิตจะเข้าฌาน

ฌานมีทั้งหมด 8 ฌาน 8 ระดับ มีฌานที่เป็นอารมณ์ทางรูป 4 อารมณ์ที่เป็นอรูปฌาน 4 ใน 8 เวลาที่เกิดอริยมรรคแต่ละคน บางคนเกิดในฌานที่หนึ่ง บางคนเกิดในฌานที่สอง สาม สี่ ห้า หก เจ็ด แปด แต่ละคนทางใครทางมันๆ ฉะนั้นถ้าอยู่ในอรูปฌาน ถ้าอยู่ในอรูปฌาน แล้วถ้าเกิดตัดกิเลสลงไปตรงนั้น ถ้าเป็นพระอรหันต์ จะเรียกว่าอุภโตภาควิมุตติ คือหลุดพ้นโดยส่วนทั้ง 2 หลุดพ้นจากรูปธรรมด้วยอรูปฌาน จิตมันเข้าถึงอรูปฌาน หลุดพ้นจากนามธรรมด้วยวิปัสสนาญาณ คือเห็นไตรลักษณ์ของรูป นาม กาย ใจจนถ่องแท้แล้ววาง หมดความยึดถือในรูป นาม กาย ใจ หลุดพ้นไป

อันนี้เป็นวิธีหลุดพ้นอันหนึ่ง แบบหนึ่ง เรียกเป็นอุภโตภาควิมุตติ บางคนหลุดพ้นเพราะว่าเห็นอนิจจัง บางคนเห็นทุกขัง บางคนเห็นอนัตตา แต่ละคนเห็นไม่เหมือนกัน แล้วถ้าประกอบด้วยอรูปฌาน เรียกอุภโตภาควิมุตติ เรียกอะไรไม่สำคัญ สำคัญก็คือพวกเราจะต้องรู้สึกตัวให้ได้ๆ แล้วก็รู้ทันจิตตัวเองให้ได้ถ้ารู้สึกตัวแล้วรู้ทันจิตตัวเองได้ ต่อไปศีล สมาธิ ปัญญาอัตโนมัติจะเกิด เมื่อมันเพียงพอแล้ว อริยมรรคจะเกิดเอง จิตมันจะรวมเข้ามา พอรวมเข้ามาแล้ว อริยมรรคจะทำหน้าที่แหวกอาสวกิเลสที่ห่อหุ้มจิตอยู่

จิตของเราแต่ละคนเป็นจิตที่ปนเปื้อนทั้งสิ้น กิเลสย้อมอยู่ ซึมซ่านอยู่ ไม่รู้เมืองจีนมีฝรั่งดอง มะม่วงดองอะไรไหม ที่เมืองไทยมีผลไม้ดอง ในเนื้อผลไม้ดอง มันก็ยังมีกลิ่นของมะม่วงดองอะไรมะพร้าว ชมพู่ดองอะไรพวกนี้ ผลไม้อะไรเอาไปดอง มันจะมีกลิ่นอยู่ในตัวมัน จิตเหล่านี้ก็เหมือนกันมันมีกลิ่นของอาสวะ มันแช่มานาน จิตของเราแช่อยู่ในกิเลสมานาน มันจะมีกลิ่นอายของกิเลสแทรกอยู่ แล้วตรงนี้สั่งให้มันหาย ไม่หาย แล้วมองมันก็ไม่ออก ต่อเมื่ออริยมรรคเกิดขึ้น มันจะแหวกออกๆ จิตนี้จะถูกอาสวกิเลสที่ห่อหุ้มจิตอยู่ ที่แทรกซึมอยู่ในจิต จะถูกแหวกออกไป จิตก็จะเข้าถึงความบริสุทธิ์ชั่วขณะ

ขณะแรกที่เข้าถึงตรงนี้จะบรรลุพระโสดาบัน แล้วพอเข้าไปแหวกอาสวะได้เรียกว่าโสดาปัตติมรรค แล้วมันจะเกิดโสดาปัตติผลตามมาทันที จิตจะเข้าไปทรงพระนิพพานอยู่ชั่วขณะ แล้วประเดี๋ยวเดียวอาสวกิเลสกลับเข้ามาใหม่ ห่อหุ้มจิตต่อ ต้องดูครั้งที่สอง ดูไปเรื่อย ทำอย่างเดิมนั่นล่ะ จนกระทั่งมันแหวกครั้งที่สอง แหวกครั้งที่หนึ่ง เป็นพระโสดาบัน เราจะมีศีลสมบูรณ์แล้ว สมาธิ ของเรายังเล็กน้อย ใจยังวอกแวกๆ ปัญญาเล็กน้อยนานๆ จะเห็นไตรลักษณ์สักที

พอได้สกิทาคามี ศีลสมบูรณ์ สมาธิปานกลาง สมาธิปานกลางก็คือจิตไม่วอกแวกแล้ว จิตใจหลงไม่นาน หลงปุ๊บรู้ปั๊บๆ หลงอย่างนี้ จิตหลงไม่นาน กิเลสไม่มีแรงเพราะสติมันเกิดเร็ว กิเลสไม่มีกำลัง เพราะฉะนั้นพระสกิทาคามี ศีลบริบูรณ์มาตั้งแต่ตอนเป็นโสดาบัน สมาธิปานกลางแล้ว ปัญญาเล็กน้อย ยังปัญญาเล็กน้อยอยู่ ยังรู้สึกว่าจิตนี้ของเรา เห็นแล้วว่ากายนี้ใจนี้ไม่ใช่ตัวเรา แต่มันยังยึดอยู่ มันยังเห็นว่าเป็นของดีของวิเศษอยู่ มันคล้ายๆ เราไปยืมรถเพื่อนมาใช้ เรารู้ว่ารถคันนี้ราคาหลายล้าน แพงมาก ไม่ใช่ของเรา แต่ไม่อยากคืน รู้ว่าไม่ใช่ของเรา แต่ไม่คืน นี่พระโสดาบัน พระสกิทาคามี ก็สไตล์นั้น รู้ว่าขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวเรา แต่ยังไม่อยากคืน ขอเอาไว้ก่อน มันดี สนุกดี มีความสุขดี

ฝึกไปเรื่อยๆ พอการแหวกครั้งที่สามเกิดขึ้น มันจะรู้แจ้งแทงตลอดลงในร่างกายแล้ว ร่างกายที่เราว่าเป็นของดีของวิเศษ ในความเป็นจริงมันคือตัวทุกข์ ร่างกายนี้ไม่มีอะไรดีเลย มีแต่ทุกข์ ทุกข์มากหรือทุกข์น้อยเท่านั้นเอง ร่างกายมีแต่ทุกข์ แค่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ทุกข์น้อย ถ้าเรารู้ว่ามันทุกข์น้อย เราจะหยิบขึ้นมาไหม เราก็ไม่หยิบ เหมือนเราเห็นถ่านไฟ อันหนึ่งเป็นไฟก้อนใหญ่ๆ เรารู้ว่าไฟก้อนใหญ่ๆ เราก็ไม่หยิบหรอก เกิดเจอสะเก็ดไฟเล็กๆ อยากได้ไหม เอามือไปจับไหม มันปะทุขึ้นมา ไล่จับไหม ก็ไม่มีใครเอาหรอก

เพราะฉะนั้นร่างกาย นิดเดียว มันมีทุกข์อยู่นิดหนึ่งก็ไม่เอา ทุกข์มากเราก็ไม่เอา ทุกข์น้อยเราก็ไม่เอา เพราะมันคือตัวทุกข์ เรารู้แล้วร่างกายเหมือนถ่านไฟแดงๆ ใครจะไปหยิบขึ้นมาให้โง่ จิตมันจะวาง ตรงที่จิตมันรู้ความจริงอย่างถ่องแท้ว่าร่างกายคือตัวทุกข์ พวกเราไม่เห็น พวกเราเห็นว่าร่างกายเป็นทุกข์บ้างเป็นสุขบ้าง แต่พระอนาคามีท่านเป็นอนาคามีได้เพราะท่านเห็นความจริง ร่างกายนี้คือตัวทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ทุกข์น้อยก็ไม่น่าเอา ท่านปล่อยวางกายได้เด็ดขาด

เพราะฉะนั้นพระอนาคามีท่านจะมีศีลบริบูรณ์ตั้งแต่เป็นโสดาบัน สมาธิคราวนี้บริบูรณ์แล้ว พระสกิทาคามี สมาธิยังไม่บริบูรณ์ ยังไหลไป เดี๋ยวก็ไหลไปทางตา ไหลทางหู จมูก ลิ้น กาย ใจ ยังวิ่งอยู่แต่วิ่งไม่นาน พระอนาคามีรู้ความจริงแล้วว่าร่างกายนี้คือทุกข์ ตาคือตัวทุกข์ หู จมูก ลิ้น ร่างกาย คือตัวทุกข์ เมื่อตาเป็นตัวทุกข์แล้ว ท่านจะไปหลงอะไรกับสิ่งที่ตาเห็น คล้ายๆ ร่างกายเราเป็นแผลอยู่ เรามีของดีของวิเศษ จะเอามาลูบไล้ ใครจะไปลูบ ถ้าหนังกำลังเปิดอยู่ โดนเข้าไปนิด เดียวก็แสบ โดนน้ำสะอาดก็แสบ ไม่มีใครอยากได้

พอมันเห็นความจริง ร่างกายคือตัวทุกข์ มันไม่ได้อยากหาสิ่งสัมผัสทางกายที่จะมีความสุขอีกต่อไปแล้ว ไม่ว่าจะอยากดูรูป อยากฟังเสียง อยากได้กลิ่น อยากได้รส อยากได้สิ่งสัมผัสร่างกายที่ดีๆ จะไม่เกิดขึ้นกับพระอนาคามี เพราะพระอนาคามีรู้ร่างกายคือตัวทุกข์ หาเสื้อตัวละแสนมาใส่ มันก็ทุกข์ล่ะ มันไม่ใช่ของดีของวิเศษ จะนั่งรถยนต์คันหนึ่งหลายๆ ล้าน หรือจะนั่งรถไฟฟ้าราคาถูกอะไรก็ตาม มันก็เหมือนๆ กัน มันวิ่งไปได้ ใจมันไม่ได้อยากได้ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสอะไรที่น่าพอใจ ไม่มีอะไรน่าสนใจเลย นี่เป็นภูมิจิตภูมิธรรมของพระอนาคามี

เพราะฉะนั้นพระอนาคามีจะไม่หลงรูป ไม่หลงในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสิ่งที่สัมผัสทางกาย พวกเรายังหลงในรูป พอมีรูป เราก็พอใจบ้างไม่พอใจบ้าง ได้ยินเสียง เราก็ยังชอบบ้างไม่ชอบบ้าง ได้กลิ่น ได้รส เราก็ยังมีชอบบ้างไม่ชอบบ้าง สัมผัสทางกายก็ยังมีชอบบ้างไม่ชอบบ้าง ฉะนั้นยังมีกิเลสที่เรียกว่ากาม กามราคะและปฏิฆะ กามราคะคือความรักใคร่ผูกพันในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ปฏิฆะก็คือความไม่พอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส พระอนาคามีไม่มีสิ่งเหล่านี้ เพราะท่านไม่ยึดร่างกายแล้ว จะไปหิวโหยอยากสัมผัสอะไรล่ะ หรืออะไรมาสัมผัสก็ไม่เดือดร้อน เพราะร่างกายนี้ไม่ใช่ของท่าน เรียกได้ว่ามีปัญญาปานกลาง ขนาดนี้ยังเรียกปานกลาง ต้องภาวนาไปจนมันแหวกอาสวะครั้งที่สี่

 

นิพพาน

หลวงพ่อเคยถามหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ครับ มันต้องแหวกกี่ครั้ง ท่านบอก 4 ครั้ง ครั้งที่สี่ มันจะแหวก พวกเราถ้าภาวนา เราจะเห็นกลางหน้าอกเรานี้มันมีอะไรที่ไหวๆ อยู่ ไหวๆ อยู่ ห้ามมันก็ไม่ได้ พอตาเห็นรูป ตัวนี้ก็ไหว หูได้ยินเสียง ตัวนี้ก็ไหว จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ตัวนี้ก็ไหว ไหวอยู่ทั้งวันทั้งคืน ใจกระทบความคิดมันก็ไหวอีก ดูไป โอ๊ย มีแต่ทุกข์ เมื่อไรมันจะเลิกสักที เมื่อไรมันจะหยุดสักที วัฏฏะหมุนอยู่กลางหน้าอกนี้เอง วัฏฏะหมุนเวียนอยู่ สุข ทุกข์ ดี ชั่ว ผุดขึ้นมาจากกลางอกนี่เอง

เฝ้ารู้เฝ้าดูไปจนมันแหวกครั้งที่สี่ จิตซึ่งมันเคยวุ่นวายจมอยู่กับกลางหน้าอก มันจะสลัดตัวนี้ทิ้งไป ตัวมันเองก็อิสระขึ้นมา มันจะเป็นสภาวะที่แปลกประหลาด อันนี้เราจะเข้าถึงสิ่งที่เรียกว่านิพพาน พูดถึงมรรคผลไปแล้ว คราวนี้ถึงตัวสุดท้ายคือนิพพาน นิพพาน มี 2 ระดับ 2 ตัว นิพพานครั้งแรก เรียกว่านิพพานกิเลส คือจิตหลุดพ้นจากกิเลส นิพพานครั้งที่สอง เรียกว่านิพพานขันธ์ จิต ปล่อยวางขันธ์ ขันธ์แตกขันธ์ดับไป

ฉะนั้นนิพพานมี 2 อัน พระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่ได้นิพพานที่หนึ่งแล้ว ตอนที่อย่างพระพุทธเจ้าร่างกายสลายหมดแล้ว เป็นนิพพานครั้งที่สอง ภาษาบาลีมี แต่ไม่รู้ว่าเขาจะแปลมีภาษาให้แปลไหม นิพพานที่หนึ่งที่ว่าฆ่ากิเลสตายหมดแล้ว จิตหลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่นในขันธ์ 5 โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ถือมั่นในจิต มันสลัดจิตทิ้งไป สลัดโลกทิ้งไป จิตก็โยนทิ้งไปๆ หมดเลย ไม่เอาทั้งจิตทั้งอารมณ์ ไม่ยึดเลย เมื่อจิตไม่ยึดสิ่งใดเลย จิตเป็นอิสระอย่างแท้จริง อันนี้เรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพาน ไม่รู้มีคำแปลหรือเปล่า หลวงพ่อเลยบอกเป็นนิพพานครั้งแรก ระดับแรกก่อน คือจิตนิพพานกิเลส ถัดจากนี้กิเลสเข้ามาไม่ถึงจิตแล้ว เพราะความปรุงแต่งทั้งหลายมันพ้นไปแล้ว จิตเป็นอิสระ

ลักษณะจิตพระอรหันต์คือจิตมันจะไม่หยั่งลงไปจับอารมณ์ๆ ของเราเวลาดูรูป จิตเราก็ไป เกาะรูป เวลาฟังเสียง จิตก็ไปเกาะเสียง เวลาคิด จิตก็ไปเกาะความคิด เวลาทำกรรมฐาน อย่างรู้ลม หายใจ จิตก็ไปเกาะลมหายใจ จิตเอาแต่เกาะโน้นเกาะนี่ตลอดเวลา แต่จิตที่หลุดพ้นแล้วไม่เกาะอะไรทั้งสิ้น ไม่หยั่งลงไปที่ใด เมื่อไม่หยั่งลงไปก็เรียกว่าไม่มีอารมณ์มารองรับๆ เมื่อไม่มีอารมณ์มารองรับ ไม่มีการหยั่งลงไป ความเกิดใหม่จะมีไม่ได้ ฉะนั้นถึงเวลาที่ขันธ์แตก เวลาที่ขันธ์จะแตก จะบรรลุพระนิพพานชนิดสิ้นขันธ์ นิพพานแรกสิ้นกิเลสแล้วจิตก็เป็นอิสระ ไม่จับไม่ยึดถืออะไรแล้ว เป็นตัวของตัวเอง ไม่มีอะไรเข้ามาปนเปื้อนได้แล้ว ตรงถึงขั้นสุดท้าย ถึงเวลาร่างกายจะแตกดับ นิพพานขันธ์

ส่วนใหญ่อันนี้หลวงพ่อยังไม่เคยเจอ เพราะยังไม่ได้นิพพานขันธ์สักที นิพพานขันธ์แล้วมาพูดไม่ได้แล้ว ทีนี้ได้ยินครูบาอาจารย์ท่านสอนไว้ บอกปกติเวลาท่านจะนิพพานขันธ์ ท่านจะสำรวจ รู้รูปธรรมบ้างนามธรรมบ้าง แล้วแต่แต่ละองค์ไม่เหมือนกัน บางองค์รู้ลงมาที่กายๆ บางองค์ขยายความรับรู้ออกไปโลกธาตุทั้งโลกธาตุเลย เสร็จแล้วที่จิตมันวาง มันวางจิตลงไป วางจิตทิ้งไปเลยตรงนี้ ก็เข้าถึงนิพพานชนิดสิ้นขันธ์ บางองค์ก็พิจารณาธาตุดิน บางองค์พิจารณาธาตุน้ำ บางองค์พิจารณาธาตุลม บางองค์พิจารณาธาตุไฟ

พระพุทธเจ้าเราตอนจะปรินิพพาน บารมีท่านเต็ม ท่านพิจารณาหมดเลย ตั้งแต่ต้นยันสูงสุดเลย เดินอยู่ในฌานนี่ล่ะ อยู่นอกฌานก็แจ่มแจ้ง เข้าฌานหนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า หก เจ็ด แปด ไม่หยุด อยู่ที่แปด ขึ้นสมาบัติที่เก้า ขึ้นนิโรธสมาบัติ แล้วก็ไม่ได้ไปนิพพานในนิโรธสมาบัติ ถ้าไปนิพพานตรงนั้นยังเกิดอีก ท่านก็ถอยออกมา แล้วก็มานิพพานลงระหว่างรูปกับนาม เราไม่ต้องหา เดี๋ยวนิพพานอยู่ตรงกลางระหว่างรูปกับนาม อยู่ตรงไหน หลวงพ่อเคยหาแล้วทำผิด ไม่ต้องหาหรอก ภาวนาให้ถึงแล้วมันรู้เอง มันรู้ได้ด้วยตัวเอง ครูบาอาจารย์ส่วนใหญ่รุ่นหลังท่านจะพิจารณากาย อย่างเห็นกายเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ดูธาตุใดธาตุหนึ่งก็ได้ ดูร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งก็ได้ พอดูไปๆ แล้วถึงวาระที่ท่านจะดับขันธ์ ท่านก็วาง จิตมันวาง มันสลัดทีเดียว มันก็พ้นไปเลย

วันนี้เทศน์ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงการเข้านิพพาน นิพพานแล้วมันดีอย่างไร ต้องถามก่อนว่ามีขันธ์แล้วมันดีอย่างไร มีขันธ์แล้วมันทุกข์ จิตพ้นจากขันธ์แล้วไม่ทุกข์ ไม่มีอะไรมีความสุขเหมือนพระนิพพาน ความสุขในโลก ความสุขจากการมีเงิน ความสุขจากการมีชื่อเสียง ความสุขจากการมีแฟน มีความสุขจากการมีลูกอะไรอย่างนี้ ไม่เห็นจะสุขจริงเลย สุกๆ ดิบๆ ส่วนสุขของพระนิพพาน สุขที่พ้นจากความเสียดแทงทั้งหลายทั้งปวง พระพุทธเจ้าบอกว่า “สุขอื่นเสมอด้วยนิพพานไม่มี” นิพพานัง ปะระมัง สุขัง พระนิพพานเป็นบรมสุข

แล้วสุขจริงๆ สุขเพราะอิสระ สุขเพราะเราเข้าถึงอิสรภาพที่แท้จริง สุขเพราะเราเข้าถึงสันติภาพที่แท้จริง สันติภาพไม่ได้เกิดที่อื่น สันติภาพเกิดที่ใจของเรานี้เอง ฉะนั้นคิดดูถ้าเรามีอิสรภาพ ถ้าเรามีสันติภาพ มันจะมีความสุขแค่ไหน มันมีได้โดยไม่ต้องไปใฝ่ฝันเอาที่อื่นเลย ศึกษาเข้ามาที่ตัวเองแล้วจะพบด้วยตัวเอง วิญญูชนจะรู้ด้วยตนเอง

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
โรงแรม KSL Esplanade มาเลเซีย
26 มีนาคม 2568