การทำหน้าที่คือการปฏิบัติธรรม

หลวงพ่อเคยบอกบ่อยๆ ว่า การทำหน้าที่ของเราในทางโลกที่ถูกต้อง ไม่ขัดไม่ขวางการปฏิบัติธรรม เราเป็นครู เราก็ทำหน้าที่ของครูให้ดี เราก็ปฏิบัติธรรมได้ ท่านพุทธทาสท่านก็พูดว่า “การปฏิบัติงาน การทำหน้าที่นั่นล่ะ คือการปฏิบัติธรรม” แต่ต้องทำให้เป็น ถ้าทำหน้าที่ งานที่เป็นอกุศลนี้ไม่ใช่ ทำแล้วจิตใจยิ่งแย่ลง ถ้างานเป็นงานที่ดี อย่างเราเป็นหมอ เรารักษาคนไข้ ถ้ารักษาไปแล้วโมโหไป อันนี้ไม่ใช่แล้ว จิตเป็นอกุศล ถ้าเราทำงานที่เป็นกุศล ด้วยจิตที่เป็นกุศล สมาธิมันเกิด เกิดได้เอง ไม่ยากหรอก เพราะฉะนั้นการทำหน้าที่ จะทั้งหน้าที่ทางโลกหรือหน้าที่ทางกรรมฐาน ทำไปด้วยจิตใจที่เป็นกุศลไว้แล้วมันจะพัฒนาง่าย

การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

ก่อนที่เราจะปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ ต้องซ้อมไว้ก่อน การซ้อมก็คือการปฏิบัติในรูปแบบ แล้วต้องมีวินัยในตัวเอง ถ้าเราไม่มีวินัยในตัวเอง เราก็จะอ้าง มีข้ออ้างมากมายที่จะไม่ปฏิบัติ ทีเรื่องอื่นขาดไม่ได้ แต่เรื่องปฏิบัตินี้ขาดได้ เว้นได้ ใจมันไม่เด็ดพอ ใจแบบนี้โอกาสได้มรรคผล ยาก ต้องใจเด็ดจริงๆ ใจเข้มแข็งจริงๆ ฉะนั้นถ้าเราอยากได้ดิบได้ดี ในทางธรรมะในชีวิตนี้ เราไม่พูดถึงว่าจะสะสมบารมีอีกหลายภพหลายชาติแล้วจะได้ธรรมะ เสียเวลา ธรรมะของพระพุทธเจ้า เป็นธรรมะที่ไม่เนิ่นช้าไม่มีข้ออ้าง จะต้องทำอีกนานๆ ถึงจะได้

เรียนเข้ามาให้ถึงจิต

เรียนเข้ามาให้ถึงจิตเลยตั้งแต่เริ่มต้น ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วคอยรู้ทันจิตตัวเอง จิตหลงไปคิดรู้ทัน จิตหลงไปเพ่งอารมณ์กรรมฐานรู้ทัน ทำกรรมฐานไปขี้เกียจขึ้นมารู้ทัน ทำกรรมฐานแล้วรู้สึกมีความสุขรู้ทัน นี่คอยรู้ทันจิตตัวเองเรื่อยๆ ไป ถ้าต้องการความสงบ เวลามีความสุขก็อย่าไปเพลินมาก รู้ยินดีพอใจมัน จิตเราจะประณีตจะสงบยิ่งกว่าเก่าอีก เวลาที่เราภาวนาจิตสงบนี่จะเป็นระดับของฌาน ในเบื้องต้นจิตจะมีปีติมีความสุข แล้วเราภาวนาไป เราเห็นจิตมีปีติ ปีติดับ จิตมีแต่ความสุข ดูไปอีก ความสุขดับ จิตเป็นอุเบกขา ถ้าจิตยังมีปีติมีความสุขอะไรนี้ เป็นสมาธิขั้นต้นเท่านั้นเอง แต่ถ้าจิตเป็นอุเบกขาคือเป็นกลาง ตั้งมั่นเด่นดวงเป็นกลาง ไม่หลงไปในความยินดี ไม่หลงในความยินร้าย นั่นคือจิตที่มีสมาธิเต็มที่แล้ว ถ้าเราทำได้ขนาดนั้นเวลาเรามาเจริญปัญญา ตาหูจมูกลิ้นกายใจกระทบอารมณ์ จะเห็นจิตเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เราจะใช้เวลาในการเจริญปัญญาไม่มากหรอก ถ้าเราตัดตรงเข้ามาที่จิตได้ก็เข้ามาที่จิตเลย แต่บางคนเข้าที่จิตตรงๆ ไม่ได้ ก็รู้สึกร่างกายไปก่อน เดินอ้อมหน่อยดีกว่าไม่เดิน

เคล็ดวิชาฝึกจิตเพื่อเดินปัญญา

จิตที่พร้อมเจริญปัญญา ก็เป็นจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง จิตที่ตั้งมั่นเป็นจิตที่มีลักขณูปนิชฌาน ส่วนจิตที่เป็นกลาง ตัวนี้จะทำให้จิตมีพลัง เป็นอารัมมณูปนิชฌาน หลวงพ่อถึงบอกว่า “มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง (ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง) การรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงคือการเจริญปัญญา สิ่งที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยเกื้อหนุนการเจริญปัญญา คือ สัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิก็คือสภาวะที่ตั้งมั่นและเป็นกลางนั้นล่ะ ตั้งมั่นเอาไว้เดินปัญญา เป็นกลางนี้เอาไว้ชาร์จพลังให้จิตมีเรี่ยวมีแรง ในสติปัฏฐานทั้ง 4 ขอให้มีจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง สติระลึกอะไร อันนั้นแสดงไตรลักษณ์ทั้งหมด เราเห็นไตรลักษณ์นั่นล่ะ ที่หลวงพ่อใช้คำว่า “เห็นตามความเป็นจริง” ความเป็นจริงคือไตรลักษณ์

ละความเห็นผิดแล้วจึงละความยึดถือ

จุดแรกก็คือละความเห็นผิดว่ามีตัวมีตนได้ ถัดจากนั้นก็ฝึกปฏิบัติของเราไปเรื่อยๆ จนกระทั่งหมดความยึดถือในตัวในตน ทีแรกละความเห็นผิด ต่อไปก็ละความยึดถือได้ คนละชั้นกัน ละความเห็นผิดได้ก็เป็นพระโสดาบัน ละความยึดถือในกายได้ก็เป็นพระอนาคามี ละความยึดถือในจิตได้ก็เป็นพระอรหันต์ ที่สุดแห่งทุกข์ก็อยู่ตรงนั้น หมดความยึดถือกาย หมดความยึดถือจิต เพราะเห็นแจ้งแล้ว กายคือตัวทุกข์ จิตคือตัวทุกข์

วิธีจัดการกับความฟุ้งซ่าน

เวลาเราภาวนาแล้วจิตเราไม่สงบ เราพยายามจะให้สงบ ทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ มันยิ่งฟุ้งซ่าน ตรงที่อยากทำแล้วก็ดิ้นรนทำนั่นล่ะ มันทำให้ฟุ้งซ่านมากขึ้น แต่ถ้าเราตัดที่ต้นตอของมัน เรารู้ จิตฟุ้งซ่านเราไม่ชอบ รู้ว่าไม่ชอบ ความไม่ชอบดับ จิตเป็นกลาง พอจิตเป็นกลาง ความฟุ้งซ่านมันทนอยู่ไม่ได้ มันดับขาดสะบั้นทันทีเลย พอจิตมันเป็นกลางได้ มันตั้งมั่นอัตโนมัติอยู่แล้ว มันตั้งมั่น มันเป็นกลางขึ้นมา ก็เอื้อให้เกิดปัญญา ปัญญาทำหน้าที่ตัดสิ่งที่ไม่ดีออกไป

ฉะนั้นอาศัยสติรู้ทันลงไป จิตฟุ้งซ่าน รู้ทัน จิตยินร้ายต่อความฟุ้งซ่าน รู้ทัน แล้วจิตจะสงบเอง ตั้งมั่นเอง อันนี้คือการใช้ปัญญานำสมาธิ

ศีลและสมาธิเพื่อการเจริญปัญญา

เราเดินตามแผนผังที่พระพุทธเจ้าวางไว้ให้เรา อย่ากระโดดข้ามขั้น ไม่ใช่ไม่มีศีล ก็โดดขึ้นไปทำสมาธิ ไม่มีศีลแล้วไปทำสมาธิได้ไหม ก็ได้ แต่มันก็จะเกเรแบบเทวทัต เทวทัตทำสมาธิได้แต่เทวทัตไม่มีศีล สุดท้ายเทวทัตก็ลงอเวจี เจริญปัญญาโดยไม่มีสมาธิ ก็เป็นไปไม่ได้ แบบเรียนที่พระพุทธเจ้าท่านสอนเรา มีขั้นมีตอน มีลำดับที่ชัดเจน ก่อนเจริญปัญญานั้นต้องมาฝึกจิตให้ตั้งมั่นก่อน ก่อนที่จะลงมือฝึกจิตนั้น ต้องตั้งใจรักษาศีล 5 ให้ได้ก่อน ให้เด็ดเดี่ยวลงไป ถ้าเรารักษาศีลของเราไว้ได้ดี เราจะไม่ทำชั่วทางกาย ทางวาจา เราจะเหลือความชั่วทางใจ ซึ่งอันนี้ล่ะเราจะล้างมันด้วยสมาธิและปัญญา ศีลเป็นเครื่องขัดเกลากายวาจาเราให้สะอาดหมดจด ไม่ทำผิดทางกาย ทางวาจา สมาธิและปัญญาเป็นเครื่องขัดเกลาจิตใจให้สะอาดหมดจด

ฝึกให้จิตมีแรงแล้วเดินปัญญา

การฝึกจิตใจมันมี 2 ขั้นตอน ขั้นฝึกให้จิตสงบมีเรี่ยวมีแรง กับฝึกให้จิตตั้งมั่น ฝึกให้จิตสงบก็คือฝึกให้จิตมันรู้จักหยุดเสียบ้าง ธรรมดาจิตเราวิ่งพล่านๆ ทั้งวัน เดี๋ยววิ่งไปคิด เดี๋ยววิ่งไปดู วิ่งไปฟัง วิ่งไปดมกลิ่น วิ่งไปลิ้มรส วิ่งไปรู้สัมผัสทางร่างกาย จิตมันวิ่งตลอดเวลา มันก็เหนื่อย หมดเรี่ยวหมดแรง คล้ายๆ ร่างกาย วิ่งๆ ไปเรื่อยๆ ก็หมดแรง ก็ต้องพัก จิตก็ต้องพักเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราจะต้องหัดกรรมฐาน ที่เรียกว่าสมถกรรมฐาน พอพักพอสมควรมีเรี่ยวมีแรงแล้ว ก็ต้องออกไปทำมาหากิน

ถ้าร่างกายพักพอสมควรมีแรงแล้ว ออกไปทำมาหากิน หาผลประโยชน์ จิตใจนี้ก็เหมือนกัน เราพักพอสมควรแล้ว ออกไปทำประโยชน์ ออกไปเจริญปัญญา นั่นล่ะหาของดีมาให้จิตใจ ปัญญามันเป็นอาหารชั้นเลิศของใจ

ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นเรื่องใหญ่

เราชาวพุทธ ขั้นต่ำสุดต้องรักษาศีลให้ได้ เอะอะจะเจริญปัญญา แต่ศีลไม่มีสมาธิมันก็ไม่มี สมาธิไม่มีปัญญามันก็ไม่มี ศีล สมาธิ ปัญญาเป็นเรื่องใหญ่ ต้องเรียน ต้องลงมือปฏิบัติจริงๆ ปฏิบัติอะไรบ้าง ปฏิบัติศีล ต้องตั้งใจรักษา แล้วก็ต้องปฏิบัติสมาธิ สมาธิมี 2 อย่าง สมาธิที่จิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว กับสมาธิที่จิตตั้งมั่นเห็นสภาวะทั้งหลายแสดงไตรลักษณ์ รูปธรรมก็แสดงไตรลักษณ์ นามธรรมก็แสดงไตรลักษณ์ ต้องเห็น อันนี้สมาธิชนิดตั้งมั่นจะทำให้เราเห็น สมาธิสงบก็ไม่มีการเห็นอะไร ก็นิ่งๆ อยู่เฉยๆ มันก็มี 2 อย่าง แต่ก็มีประโยชน์ทั้ง 2 อย่าง มีสมาธิชนิดตั้งมั่นแล้วเจริญปัญญารวดไปเลย จิตจะหมดแรง ถ้าจิตจะหมดกำลัง วิปัสสนูปกิเลสจะแทรก เพราะฉะนั้นเราจะต้องมีสมาธิชนิดสงบด้วย แบ่งเวลาไว้เลยทุกวันๆ ต้องทำในรูปแบบ จะนั่งสมาธิ จะเดินจงกรมอะไรก็ได้ ทำไปแล้วก็ให้จิตใจมันอยู่กับเนื้อกับตัวไว้ ถัดจากนั้นเราก็ทำกรรมฐานอย่างเดิมล่ะ แต่ไม่ได้มุ่งไปที่ความสงบ เรามุ่งไปที่จิต อย่างเราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตหนีไป เรารู้ทัน หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตหนีไปเพ่งลมหายใจ เรารู้ทัน ตรงที่เรารู้ทันสภาวะ ที่จริงสภาวะอะไรก็ได้ สมาธิชนิดตั้งมั่นจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ แล้วต่อไปปัญญามันก็ตามมา มันจะเห็นจิตรู้ก็ไม่เที่ยง จิตที่ไหลไปทางตาก็ไม่เที่ยง จิตที่ไหลไปทางหูก็ไม่เที่ยง จิตที่ไหลไปทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็ไม่เที่ยงอะไรอย่างนี้ เห็น หรือจิตที่ตั้งมั่นเป็นผู้รู้อยู่ก็เป็นอนัตตา ควบคุมไม่ได้ บังคับไม่ได้ จิตที่จะไปดูรูป ไปฟังเสียง ไปดมกลิ่น ลิ้มรส รู้สัมผัสทางกาย คิดนึกทางใจ ก็ห้ามไม่ได้ บังคับไม่ได้ นี่เห็นอนัตตา

พอจิตสงบ พุทโธจะหายไปจะเหลือแต่ลมหายใจแผ่วๆ เมื่อจิตสงบมากๆ หรือจิตหลงไปคิด จะถอนลมหายใจออกยาวๆ แล้วกลับมาตามลมหายใจ

ฝึกปฏิบัติโดยใช้หลักวิหารธรรมลมหายใจเข้า พุทออกโธครับ เคยส่งการบ้านเมื่อต้นปี 2562 พ่อแม่ครูอาจารย์ให้กลับมาทำสมาธิเพิ่มขึ้นอีก กระผมได้กลับมาปฏิบัติถึงปัจจุบันครับ พอนั่งจิตสงบ พุทโธจะหายไปจะเหลือแต่ลมหายใจแผ่วๆ เมื่อจิตสงบมากๆ หรือจิตหลงไปคิด กระผมจะถอนลมหายใจออกยาวๆ แล้วกลับมาตามลมหายใจ ขอคำแนะนำเพิ่มเติมครับ

 

หลวงพ่อ:

ภาวนาถูกแล้ว พอจิตเรามีกำลัง เราก็เอาจิตที่มีกำลังแล้ว มีสมาธิแล้วไปเดินปัญญา ระลึกลงในร่างกาย ตั้งแต่หัวถึงเท้า เท้าถึงหัว ไล่ขึ้นไล่ลง คอยดูไปเรื่อยๆ แต่ไม่ได้ดูแบบพรวดพราด ดูหัวทีเดียวถึงเท้าอะไรอย่างนี้ เร็วไป ค่อยๆ สังเกตไป ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก แต่ละส่วนๆ นี่ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ค่อยๆ ดูไปเรื่อยๆ ส่วนจิตใจมันจะขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวอะไร มันจะเห็นเอง

สมาธิดี ทำต่อ สมาธิไม่ทิ้ง เดินไปด้วยการใช้สมาธิอย่างนี้ การปฏิบัติเราจะไม่แห้งแล้ง มันจะปฏิบัติไป มีความสุข มีความสงบไปตลอดสายของการปฏิบัติ มีจิตที่ทรงสมาธิอยู่ นี้พอจิตเราสงบตั้งมั่น ดีแล้ว พักผ่อนพอสมควรแล้ว ไม่เกียจคร้าน ออกมาดูร่างกายนี้ ทำไมหลวงพ่อไม่บอกไปดูจิต ถ้าจิตสงบแล้วมันไม่ค่อยมีอะไรให้ดู มันว่างๆ นิ่งๆ ไป ออกมาดูกาย แต่ถ้าจิตมันขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวอะไร เราเห็น เราก็ดูจิตไปเลย แต่ถ้าจิตมันเฉยๆ มาดูที่กาย ร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา ร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา คอยดูไปอย่างนี้เรื่อยๆ ไป ภาวนาเก่ง ภาวนาได้ดีเชียวล่ะ

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
25 กรกฎาคม 2564
Page 2 of 2
1 2