ขันธ์ 5 ล้วนตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์

ถ้าเรารู้กายมีจิตเป็นคนรู้ ถ้ารู้เวทนามีจิตเป็นคนรู้ ถ้ารู้สังขารก็มีจิตเป็นคนรู้ เรารู้อย่างนี้ ไม่ว่าจะรู้อะไรก็ต้องมีจิตที่เป็นคนรู้อยู่ อย่างเราฝึกเรื่อยๆ รู้สึกๆๆ พอเราหลงไปปุ๊บแล้วสติเกิด มันรู้สึกเลยร่างกายที่นั่งอยู่ตรงนี้มันไม่ใช่ตัวเรา มันเป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า ร่างกายกับจิตนี่เป็นคนละอันกัน เราพยายามรู้สึกร่างกายเรื่อยๆ จนกระทั่งจิตมีแรงขึ้นมา หลงแล้วรู้ หลงแล้วรู้ไป ทำกรรมฐานไปที่เราถนัด แล้วจิตมันหลงแล้วรู้ แล้วจิตมันจะมีแรง พอจิตมีแรงขันธ์มันจะแยก พอขันธ์แยกแล้วแต่ละขันธ์ล้วนแต่แสดงไตรลักษณ์ แสดงความไม่ใช่ตัวเราทั้งนั้นเลย

ไม่มีทางลัด

การปฏิบัติธรรมจับหลักให้แม่นๆ แล้วก็อดทนพากเพียรทำไป ทางลัดไม่มี ทางฟลุกๆ ไม่มี ทางเดียวเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น คือการเจริญสติปัฏฐาน พระพุทธเจ้าบอกเป็นทางสายเอก เป็นทางสายเดียวเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น ทุกวันนี้มีการเผยแพร่อะไรกันวุ่นวายไปหมด ส่วนใหญ่ก็จะโชว์ว่าเป็นทางลัด ทางลัดไม่มีหรอก มีแต่ทางหลง ฉะนั้นเราอย่าไปเห่อเรื่องทางลัด ทางพ้นทุกข์มีทางเดียวคือการเจริญสติปัฏฐาน การเจริญสติปัฏฐานในเบื้องต้นทำให้เกิดสติ เบื้องปลายทำให้เกิดปัญญา เห็นไหมเป็นเรื่องของสติ เรื่องของปัญญา ไม่ใช่เรื่องนั่งคิดธรรมะแล้วก็เพลินๆ มีความสุขไป ทุกวันนี้ชอบทางลัดเพราะขี้เกียจ เพราะขี้เกียจเอะอะก็จะหาทางลัด ทางลัดไม่มีหรอก ถ้ามีครูบาอาจารย์สอนแล้ว ถ้ามีพระพุทธเจ้าบอกไว้แล้ว เราถนัดอันไหน เราทำกรรมฐานอันนั้น นั่นทางลัดเฉพาะตัวเรา ไม่มีทางลัดทั่วไป แต่ทั้งหมดอยู่ในหลักของสติปัฏฐานนั่นล่ะ

เรียนรู้กายใจด้วยใจปกติ

รู้ด้วยใจปกติเลย อย่าไปทำใจให้ผิดปกติ จิตใจปกติในการที่เราจะใช้ปฏิบัติธรรม จิตปกติของเราพระพุทธเจ้าท่านเรียกจิตเดิม จิตธรรมดาของเรานี่เอง มันประภัสสรอยู่แล้ว มันผ่องใส แต่มันเศร้าหมองเพราะกิเลสที่จรมา แค่อยากปฏิบัติมีโลภะเกิดขึ้น จิตก็ผิดปกติแล้ว เราจะใช้จิตใจของคนธรรมดานี่ล่ะ ปกติอย่างนี้ เรียนรู้กายเรียนรู้ใจ อย่างร่างกายเราหายใจออกรู้สึก หายใจเข้ารู้สึก รู้ด้วยจิตปกติ ไม่ต้องวางฟอร์มเป็นนักปฏิบัติ ต้องไม่เหมือนคนธรรมดาอะไร นี่เข้าใจผิดอย่างยิ่งเลย เสียเวลา อย่างขณะนี้ร่างกายเรานั่งอยู่ ยากไหมที่จะรู้ว่าตอนนี้นั่งอยู่ ไม่เห็นยากเลย ตอนนี้ขยับส่ายหัวอย่างนี้ ส่ายหน้า รู้สึก รู้สึกด้วยใจปกติใจธรรมดา ฉะนั้นมันจะไม่ใช่เรื่องยาก ที่ยากเพราะเรามีความเห็นที่ว่าการปฏิบัติต้องอย่างนี้ ต้องอย่างนี้ อย่างนี้ถูก อย่างนี้ไม่ถูก สิ่งเหล่านี้เขาเรียกว่าสีลัพพตปรามาส

พ้นทุกข์เพราะรู้ความจริง

พอจิตตั้งมั่นและเป็นกลาง ก็จะเกิดปัญญาเห็นความจริงของร่างกายของจิตใจ เมื่อเห็นความจริงของร่างกายของจิตใจอย่างถ่องแท้แล้ว จะรู้เลยขันธ์ 5 มันไม่มีอะไรหรอกขันธ์ 5 ก็มีแต่ทุกข์นั่นล่ะ รูปนาม กายใจนี่มีแต่ทุกข์นั่นล่ะ พอใจมันยอมรับความจริงได้ ความอยากก็ไม่เกิด เมื่อความอยากไม่เกิด ความยึดถือ ความดิ้นรนปรุงแต่งของจิตก็ไม่เกิด ความทุกข์ทางใจก็ไม่เกิด จิตใจมันเป็นอิสระขึ้นมา พ้นทุกข์เพราะพ้นจากความปรุงแต่ง

สติปัฏฐาน

ไปดูตัวเอง ถนัดรู้กาย เราก็รู้กาย ถนัดรู้เวทนา ก็รู้เวทนา ถนัดดูจิตที่เป็นกุศลอกุศล เราก็รู้จิตไป รู้ไปเรื่อยๆ แล้วต่อมาเราก็จะเห็นทุกอย่างที่เรารู้มันเป็นของถูกรู้ถูกดู ร่างกายก็ถูกรู้ เวทนาก็ถูกรู้ จิตที่เป็นกุศลอกุศลก็ถูกรู้ เราเริ่มเดินปัญญาแล้ว แล้วต่อมาเราเห็นความเป็นไตรลักษณ์ ร่ายกายก็อยู่ใต้ไตรลักษณ์ เวทนาก็อยู่ใต้ไตรลักษณ์ จิตก็อยู่ใต้ไตรลักษณ์ อันนี้เราขึ้นวิปัสสนาแล้ว เราเดินไปในเส้นทางอันนี้ เส้นทางของสติปัฏฐาน เรียกว่าเอกายนมรรค คําว่าเอกายนมรรค หรือทางเอก เป็นทางสายเดียวเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น

รู้แจ้งในกองทุกข์จึงสิ้นตัณหา

ขันธ์ 5 ทั้งหมดไม่ใช่แค่ว่าไม่ใช่ตัวเรา เอาเข้าจริงๆ มันคือตัวทุกข์ มันทุกข์เพราะมันไม่เที่ยง มันทุกข์เพราะมันถูกบีบคั้นให้แตกสลาย มันทุกข์เพราะมันไม่อยู่ในอำนาจบังคับ อันนี้เรียกว่าทุกขสัจ ทุกขสัจจะ เรียกว่าเห็นทุกขสัจ เห็นทุกขสัจแจ่มแจ้งก็คือพระอรหันต์ เพราะทันทีที่เห็นทุกขสัจแจ่มแจ้ง สมุทัยก็ถูกละอัตโนมัติเลย สัจจะอันที่สองคือสมุทัยดับทันที สัจจะอันที่สามคือนิโรธ คือนิพพาน ปรากฏขึ้นทันที ทันทีที่จิตสิ้นตัณหา จิตสิ้นตัณหาเพราะจิตรู้แจ้งในกองทุกข์ พอรู้แจ้งในกองทุกข์ก็สิ้นตัณหา พอสิ้นตัณหาก็สัมผัสพระนิพพานเลย พระนิพพานคือสภาวะที่สิ้นตัณหา และขณะนั้นคือขณะแห่งอริยมรรค

รู้ทันความปรุงแต่งจนหลุดพ้น

หลวงพ่อนั่งดูพวกเรา แต่ละคนก็พยายามภาวนา อยากภาวนากัน ป …

Read more

คอยรู้ทันความปรุงแต่ง

จุดสำคัญ เราจะต้องคอยรู้เท่าทันความปรุงแต่งที่เกิดขึ้นในจิตใจเรา มันไม่ยากหรอก อย่างขณะนี้ใจเราสุขหรือใจเราทุกข์ ยากไหมที่จะรู้ ส่วนใหญ่พอมีความสุขมันก็เผลอเพลิน มีความทุกข์ก็มัวแต่เศร้าโศก หดหู่ ท้อแท้ แทนที่มีความสุขก็รู้ว่ามีความสุข เห็นว่าความสุขเป็นของที่แปลกปลอมผ่านเข้ามาแล้วก็ผ่านออกไป ความทุกข์เกิดขึ้นมาก็ไม่ต้องไปหดหู่ท้อแท้ ก็เห็นว่าความทุกข์ทั้งหลายผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เหมือนกันหมด จะสุขหรือจะทุกข์ก็คือมาแล้วก็ไป กุศลหรืออกุศลก็เหมือนกัน ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ถ้าเราไม่รู้ทันความปรุงแต่ง จิตจะหลงในความปรุงแต่ง แล้วจิตเรามันจะยึดถือ ยึดถือจิตขึ้นมา ถ้ามีความปรุงแต่งเกิดขึ้น เรามีสติมีปัญญา จิตไม่เข้าไปยึดถือความปรุงแต่ง จิตก็ไม่เข้าไปยึดถือจิต

ธัมมวิจยะ

คำว่า “กายในกาย” “เวทนาในเวทนา” “จิตในจิต” “ธรรมในธรรม” เป็นศัพท์เฉพาะ “กายในกาย” “เวทนาในเวทนา” “จิตในจิต” “ธรรมในธรรม” เป็นการเรียนแบบทำงานวิจัย สุ่มตัวอย่างมา สุ่มตัวอย่างของรูปธรรม สุ่มตัวอย่างของนามธรรมบางอย่างมาเรียนรู้ มันคือเหมือนกับงานวิจัยปัจจุบันนี้ล่ะ สุ่มตัวอย่างมาศึกษา ตัวอย่างนั้นพระพุทธเจ้าท่านเลือกไว้ให้แล้วอยู่ในสติปัฏฐาน ไปดูเอา
นี้คือการเรียนแบบทำวิจัย เรียกว่า “ธัมมวิจยะ” ฉะนั้นธรรมะสำหรับคนคนหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องเรียนเยอะๆ อะไร สภาวะอันใดที่เรารู้ได้ชัด รู้ได้บ่อย เอาอันนั้นเป็นอารมณ์กรรมฐานของเรา

ลงมือปฏิบัติจนเห็นของจริง

หัดดูในขันธ์ 5 ดูไปเรื่อย ล้วนแต่ของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าการปฏิบัติ ไม่ใช่นั่งคิดเอา นั่งคิดเอาว่าร่างกายไม่ใช่เรา คิดเอาแล้วก็อิ่มอกอิ่มใจว่ากูรู้ธรรมะ มันรู้ด้วยการคิด มันยังไม่ได้เห็นของจริง ต้องลงมือปฏิบัติไปจนเห็นของจริง ขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ถ้าเราเห็นด้วยจิตใจที่แท้จริง มันจะไม่กลับมาหลงผิดอีก อย่างคนไหนเป็นพระโสดาบันแล้ว รู้ความจริงแล้ว ขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ไม่มีตัวเรา ไม่มีของเราในขันธ์ 5 ไม่มีตัวเราของเราที่ไหนเลย ไม่มี พระโสดาบันภาวนาไปจนจิตเห็นความจริงอันนี้แล้ว ความรู้อันนี้ฝังลึกเข้าไปในจิตใจ ตายไปแล้วข้ามภพข้ามชาติไปแล้ว ความรู้อันนี้ก็ไม่หายไป มันฝังลงไปในจิตใจ แต่ถ้าเป็นความรู้จากการคิด การอ่าน การฟัง ไม่ทันจะแก่ก็ลืมหมดแล้ว

Page 1 of 3
1 2 3