ล้างความเห็นผิด

การที่เราตามรู้ตามเห็น ความเกิดดับของกายของใจ เรียกว่าวิปัสสนากรรมฐาน เราเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของมัน เกิดๆ ดับๆ ไปเรื่อย บังคับไม่ได้ พอเราเข้าใจความจริง จิตจะเบื่อหน่ายคลายความยึดถือ แล้วก็หลุดพ้น ทำไมจิตไม่รู้จักหลุดพ้นเสียที เพราะจิตไม่ยอมวาง จิตยึดอยู่นั่นล่ะ ก็ต้องอบรมฝึกฝนตัวเองไปเรื่อยๆ ด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา ถึงจุดที่จิตมันมีปัญญา มันฉลาด รู้ความจริงของรูปนามกายใจ มันก็วาง ไม่ใช่ของวิเศษ มีแต่ของเกิดแล้วดับ มีแต่ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ ทุกข์ดับไป มันเห็นแล้วมันก็วาง

เบื้องต้นตรงที่เราเห็นว่าสิ่งใดเกิด สิ่งนั้นก็ดับ เราวางความเห็นผิด ไม่มีอะไรที่เป็นอมตะ ไม่มีตัวตนถาวร อย่างปุถุชนจะรู้สึกว่า ตัวเรามีอยู่อย่างถาวร ตัวเราตอนนี้ กับตัวเราตอนเด็กๆ มันก็คนเดิม ตัวเราตอนนี้กับตอนแก่ มันก็คนเดิม ตัวเราเดี๋ยวนี้กับตัวเราชาติก่อน มันก็คนเดิม ตัวเราเดี๋ยวนี้กับตัวเราชาติหน้า มันก็คนเดิม ปุถุชนมันจะเห็นอย่างนี้ มันเห็นว่าตัวเรามีจริงๆ เราพาจิตใจให้มาเรียนรู้ความจริง ซ้ำแล้วซ้ำอีกลงไป มันมีแต่ของที่เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ ไม่มีหรอกอะไรที่เป็นอมตะถาวร

ในขันธ์ 5 นี้ จะเป็นกายหรือจิตใจ เกิดแล้วก็ดับเหมือนๆ กัน เพราะฉะนั้นการที่เราล้างความเห็นผิด ว่ามีตัวมีตนได้ เกิดจากเราเห็นความจริง ว่าสิ่งทั้งหลายเกิดแล้วดับทั้งสิ้น ในขันธ์ 5 นี้ไม่มีอะไรอมตะเลย

จิตคือกุญแจไขตู้พระไตรปิฎก

เราก็ปฏิบัติที่จิต จนมารู้แจ้งในจิต แล้วก็ปล่อยวางที่จิต ฉะนั้นตัวจิตนั้นล่ะ เป็นกุญแจที่จะไขตู้พระไตรปิฎกให้เรา ตู้พระไตรปิฎกไม่ได้อยู่ที่ในตู้หรอก อันนั้นเป็นความจำ ไปอ่านเท่าไรก็ได้ความจำ แต่ธรรมะตัวจริงอยู่ที่จิตเรา ตู้พระไตรปิฎกที่แท้จริงอยู่ที่จิตของเราเอง หัดไขกุญแจเข้าไป กุญแจก็คือมีสติ มีสมาธิ รู้เท่าทันจิตใจของตนเองให้มากๆ ไว้ เบื้องต้นเราจะได้สติ แล้วก็จะได้สมาธิ แล้วก็จะได้ปัญญา สุดท้ายก็จะเกิดวิมุตติ นี้คือเส้นทางที่เราจะฝึก ถ้าเราตัดตรงเข้ามาที่จิตได้จะเร็วที่สุดเลย

อย่าทิ้งการรู้ทุกข์

เราจะภาวนา อย่าทิ้งอริยสัจ อย่าทิ้งการรู้ทุกข์ ดูลงไปขันธ์นั่นล่ะทุกข์ ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งเมื่อไร มันจะละสมุทัย จะแจ้งพระนิพพานขึ้นมาเอง ไม่ต้องหา ไม่ต้องหาทำอย่างไรจิตเราจะถึงพระนิพพาน ทำอย่างไรจิตจะถึงพระนิพพาน เห็นไหมมันมีโลภเจตนาอยู่ ดูความจริงของมันเรื่อยๆ ไปจนจิตมันแจ้งขึ้นมา จิตนี้คือทุกข์ ทุกข์เพราะไม่เที่ยง ทุกข์เพราะถูกบีบคั้น ทุกข์เพราะเป็นความว่าง เป็นสุญญตา เป็นอนัตตา แล้วมันก็วางของมันเอง ไม่มีใครวางได้หรอก มันวางของมันเอง พอวางแล้ว พอเวลาเรานึกถึงพระพุทธเจ้า จิตกับพระพุทธเจ้ากลืนเป็นอันเดียวกันเลย จิตกับพระธรรมก็กลืนเป็นอันเดียวกัน จิตกับพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ก็กลืนเป็นอันเดียวกัน

ขันธ์ 5 เป็นที่รองรับความทุกข์

ถ้าตัวเราไม่มี ก็ไม่มีที่รองรับความทุกข์อีกต่อไป เพราะสิ่งที่รองรับความทุกข์ไว้คือตัวขันธ์ 5 นั้น ย่อๆ ลงมาก็คือรูป นาม กาย ใจของเรา สังเกตดูความทุกข์ไม่อยู่ที่กายก็อยู่ที่ใจ ถ้ามันเห็นความจริง กายก็ไม่ใช่เรา ใจมันก็ไม่ใช่เรา ความทุกข์มันก็ไม่มีที่ตั้ง สุดท้ายภาวนาแล้วก็จะเข้าถึงสุญญตา คือเห็นมันว่าง ร่างกายนี้ก็ว่าง โลกข้างนอกก็ว่าง จิตก็ว่างเสมอกันหมด มันก็เข้าถึงความสงบสุข ยิ่งเราปล่อยวางความยึดถือในตัวในตนได้ ก็ยิ่งสบายยิ่งเบา ค่อยๆ ภาวนาไปเรื่อยๆ ทีแรกมันก็ละความเห็นผิดว่าขันธ์ 5 เป็นเรา สุดท้ายมันเห็นความจริงอย่างแจ่มแจ้งแล้ว มันก็หมดความยึดถือในขันธ์ 5

ธรรมะมีหลายระดับ

ธรรมะมีหลายระดับ ระดับต้นๆ ทำให้เราอยู่กับโลกอย่างมีความสุข ระดับสูงขึ้นไปเป็นเรื่องธรรมะเพื่อการพ้นจากโลก เพราะฉะนั้นเราตั้งอกตั้งใจ มีทาน มีศีล มีภาวนา ทำไว้สำหรับฆราวาส สำหรับฆราวาสและพระที่ต้องการพ้นทุกข์ ก็มีศีล มีสมาธิ และเจริญปัญญาด้วย เจริญปัญญาคือการเห็นกายอย่างที่กายเป็น เห็นจิตอย่างที่จิตเป็น มันเป็นอย่างไร มันเป็นไตรลักษณ์ นี่เรียกว่าเจริญปัญญา ไปเลือกเอา ชีวิตเรา อยากสุข อยากสบาย ก็ทาน ศีล ภาวนา อยากพ้นทุกข์ อยากมีความสุขก็ทาน ศีล ภาวนา อยากพ้นทุกข์ก็ ศีล สมาธิ ปัญญา ตัวที่ทำให้พ้นทุกข์ คือปัญญา

จิตไม่ใช่เรา

จิตมันทำงานได้เอง เวลาจะสุขเราสั่งไม่ได้ เวลาจะทุกข์เราห้ามไม่ได้ เวลาจะดีเราก็สั่งให้เกิดไม่ได้ เกิดแล้วรักษาให้ตลอดไปก็ไม่ได้ เวลาจะชั่วห้ามมันก็ไม่ได้ ไล่มันก็ไม่ไป แล้วจิตเองเดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้หลง หลงทางทวารทั้ง 6 เห็นไปเรื่อยๆ สุดท้ายปัญญามันก็แทงตลอด จิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา จิตเป็นแค่สภาพธรรมอันหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา จิตไม่ใช่เรา ขันธ์ 5 เป็นผลผลิตของจิต มันก็ไม่ใช่เรา โลกซึ่งมันปรากฏขึ้นมาได้ก็เพราะเรามีจิต มันก็เลยพลอยไม่ใช่เราไปด้วย

รู้อะไรไม่สู้รู้จักจิตตนเอง

เวลาเราภาวนา อะไรๆ ก็สู้การอ่านจิตอ่านใจตนเองไปไม่ได้ หลวงพ่อพูดไม่ได้พูดเอาเอง ครูบาอาจารย์นับตั้งแต่พระพุทธเจ้าลงมา ท่านก็สอนมาตลอด “จิตเป็นใหญ่ จิตเป็นหัวหน้า จิตเป็นประธาน” หรือครูบาอาจารย์ท่านก็สอน อย่างหลวงปู่มั่นท่านก็บอก “ได้จิตก็ได้ธรรม ไม่ได้จิตก็ไม่ได้ธรรม” ทุกองค์พูดเหมือนๆ กัน ตั้งแต่พุทธกาลมา จนถึงครูบาอาจารย์ที่หลวงพ่อไปเรียนด้วย ท่านมุ่งเข้ามาที่จิตทุกองค์ อย่างถ้าคนไหนอินทรีย์อ่อนมากๆ ท่านก็ให้ทำสมถะก่อน ทำสมถะแล้วท่านก็สอนให้ไปดูกาย พิจารณากายในอาการ 32 ก็อยู่ในสติปัฏฐานเหมือนกัน ค่อยดูไปสติก็จะค่อยๆ เข้มแข็งขึ้น สมาธิก็จะค่อยๆ ดีขึ้น มีสติมีสมาธิดีแล้วก็จะเจริญปัญญาได้ เห็นความจริงของรูป ของนาม ของกาย ของใจ ความจริงคือเห็นไตรลักษณ์นั่นล่ะ ฉะนั้นเราพยายามสังเกตจิตใจของเรา ทำความรู้จักกับจิตตนเองไว้ เราอยากรู้อะไรต่ออะไรมากมาย แต่รู้อะไรมากมายก็สู้การรู้จักตัวเองไม่ได้ แสวงหาอะไรก็สู้แสวงหาลงมาในตัวเองไม่ได้

โลกวุ่นวาย เราไม่วุ่นวายไปกับโลก

เราฝึกตัวเองทุกวันๆ ศีลต้องรักษา สมาธิคือการทำในรูปแบบ ต้องทำ ต้องมีเครื่องอยู่ของจิต แล้วก็คอยรู้เท่าทันจิตใจของเราเป็นอย่างไร คอยรู้เท่าทัน สติมันจะเกิด สมาธิมันก็เกิด ปัญญามันก็เกิด สุดท้ายวิมุตติมันก็เกิด อยากดูว่ากฎแห่งกรรมมีไหม ดูที่จิตเรานี่ล่ะ เวลาเราโมโหมากๆ โกรธเต็มเหนี่ยวเลย ตอนที่หายโกรธแล้ว มาดูสิ จิตรับวิบาก จิตไม่มีความสุขหรอก หรือเวลามีราคะแรงๆ ประเภท แหม หื่นมากเลยอะไรอย่างนี้ พอราคะนั้นผ่านไปแล้ว มาดูสิ จิตผ่องใสหรือเศร้าหมอง เราจะรู้เลยว่า ทำชั่วไม่ว่าเล็กน้อยแค่ไหนก็มีผลที่ไม่ดี ใจมันจะค่อยๆ ขยาดต่อการทำชั่ว จะขวนขวายที่จะทำดีให้มากขึ้นๆ เพื่อจะได้พ้นจากการเวียนว่าย ไม่ได้ทุกข์แล้วทุกข์อีกอยู่อย่างนี้ ใจมันจะค่อยๆ อยากพ้นไป แล้วจะขยันภาวนา ฝึกทุกวันๆ แล้ววันหนึ่งจะได้ดี โลกเขาก็วุ่นวายอย่างนี้ล่ะ เราไม่ห้ามมัน ห้ามมันไม่ได้ แต่เราไม่วุ่นวายไปกับโลก

จิตคือหัวโจก

ตัวสำคัญคือตัวจิต จิตนี้เดี๋ยวก็โคจรไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดดับทางอายตนะทั้ง 6 จิตก็ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ฉะนั้นถึงจะเริ่มจากการรู้รูป สุดท้ายมันก็เข้ามาที่จิตจนได้
แต่ถ้าเราลัดเข้ามาที่จิตได้ เข้ามาเลย ไม่ต้องเสียเวลาอ้อมค้อม เข้ามาที่จิต ถ้าเราเห็นว่าจิตไม่ใช่เราอันเดียว ขันธ์ 5 ทั้งหมดจะไม่เป็นเราแล้ว อายตนะทั้งหมดจะไม่เป็นเราแล้ว เล่นมันที่หัวโจกตัวเดียวเลย

มาดูความจริงของขันธ์ 5

การเรียนรู้ความจริงของรูปนามกายใจ เรามีสติระลึกรู้รูปธรรมนามธรรม มีปัญญาเข้าใจความเป็นจริงของรูปธรรมนามธรรม ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จะเข้าใจได้จิตต้องตั้งมั่น มีสมาธิที่ถูกต้อง จิตเป็นแค่คนดู ร่างกายนี้ถูกดูจิตเป็นคนดู อย่างนี้เรียกเรามีจิตตั้งมั่น พอเห็นความจริง กายนี้คือทุกข์ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นทุกข์ มันจะค่อยๆ ปล่อย ปล่อยเป็นลำดับๆ ไป ปล่อยกายก่อนเพราะมันหยาบมันดูง่าย แล้วสุดท้ายมันก็ไปปล่อยจิตอีกทีหนึ่ง

Page 3 of 4
1 2 3 4