เรียนธรรมคู่เพื่อรู้ธรรมหนึ่ง

หัดรู้สภาวะไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ เริ่มต้นเรารู้คู่ใดคู่หนึ่งก็พอแล้ว เช่น จิตโกรธกับจิตไม่โกรธ จิตโลภกับจิตไม่โลภ ตอนนี้อยาก ตอนนี้เฉยๆ อย่างนี้ หัดดูสิ่งที่เป็นคู่ๆ ตอนนี้สุข ตอนนี้ทุกข์ ตอนนี้สุข ตอนนี้เฉยๆ อันนี้ก็เป็นเซ็ตหนึ่งมี 3 ตัว สุข ทุกข์ เฉยๆ หัดเรียนกรรมฐานเรียนเซ็ตเดียวพอ คู่เดียวพอแล้ว อย่างเห็นจิตโกรธกับจิตไม่โกรธ ทั้งวันก็มีแต่จิตโกรธกับจิตไม่โกรธ ถ้าเราดูตัวอยากทั้งวันก็มีแค่ตอนนี้อยากตอนนี้ไม่ได้อยาก ก็มีแค่นี้เอง หัดดูอย่างนี้เรื่อยๆ แล้วเราจะเห็นว่าจิตเราเหวี่ยงไปเหวี่ยงมา เดี๋ยวเหวี่ยงซ้าย เดี๋ยวเหวี่ยงขวา เดี๋ยวอยาก เดี๋ยวไม่อยาก เดี๋ยวโกรธ เดี๋ยวไม่โกรธ ตรงที่มันเหวี่ยงไปเหวี่ยงมา มันกำลังสอนไตรลักษณ์เรา จิตอยากก็ไม่คงที่ จิตไม่อยากก็ไม่คงที่ เห็นไหมจิตโกรธก็ไม่คงที่ จิตไม่โกรธก็ไม่คงที่ ฉะนั้นเวลาเรียนธรรมะ เรียนเป็นคู่ คู่เดียวก็พอแล้ว ไม่ต้องเรียนเยอะหรอก

หลักสูตรการฝึกสติคือสติปัฏฐาน

หลักสูตรในการฝึกสติก็คือสติปัฏฐานนั่นเอง ฉะนั้นสติปัฏฐานเลยเป็นเรื่องใหญ่ ตราบใดที่ยังมีผู้เจริญสติปัฏฐานอยู่ แล้วต้องทำให้ถูกด้วย การที่จะบรรลุมรรคผล ไม่เหลือวิสัย มีความเป็นไปได้ แต่ถ้าเราทิ้งเรื่องของสติปัฏฐาน ให้เรานั่งสมาธิตั้งแต่หัวค่ำยันสว่าง หรือเดินจงกรมหามรุ่งหามค่ำ มันก็ไม่ได้มรรคผลอะไรหรอก เพราะฉะนั้นเราชาวพุทธต้องรู้จักหัดเจริญสติปัฏฐานให้ได้ การเจริญสติปัฏฐานมันมี 2 อย่างซ้อนกันอยู่ เบื้องต้น เราฝึกเพื่อให้เกิดสติ เบื้องปลายเราฝึกเพื่อให้เกิดปัญญา 2 อย่างนี้ได้มาด้วยการเจริญสติปัฏฐาน สติ ทำอย่างไรมันจะเกิด สติเป็นเรื่องใหญ่ ไม่มีสติก็ไม่มีศีล ไม่มีสติ ไม่มีสมาธิ ไม่มีสติก็ไม่มีปัญญา สติเป็นองค์ธรรมฝ่ายกุศล จิตที่เป็นกุศลทุกดวงต้องมีสติ อกุศลไม่มีสติหรอก ฉะนั้นสติไม่ใช่เรื่องเล็กๆ