รู้สึกตัวเองมีโมหะและโทสะมาก มีความตึงเครียดกับปัญหาทางโลก จนทำให้มึนและหนักศีรษะอยู่บ่อยๆ
คำถาม: ปัจจุบันปฏิบัติในรูปแบบช่วงก่อนนอนและระหว่างวัน …
หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช ธรรมะเพื่อความพ้นทุกข์
คำถาม: ปัจจุบันปฏิบัติในรูปแบบช่วงก่อนนอนและระหว่างวัน …
คำถาม: ตอนบวช หลวงพ่อเคยบอกว่าให้ดูกายเป็นฐานไปเรื่อยๆ …
หลวงพ่อจะต่างกับครูบาอาจารย์ทั่วไป ส่วนใหญ่ท่านจะสอนให้เดินทีละก้าว เอ้า ไปพุทโธ พอสัก 3 ปีก็ค่อยมาว่ากันต่อ ซึ่งคนรุ่นนี้มันทำไม่ได้ ที่หลวงพ่อสอนมันเลยเป็นภาพทั้งกระดานเลย เหมือนเราดู GPS เราไม่ได้ดูเฉพาะหน้านี้ใช่ไหม เริ่มต้นเราก็ดูภาพรวมก่อน จากกรุงเทพฯ จะไปเชียงใหม่ มันจะไปทางทิศทางไหน มันจะเห็นภาพรวมก่อน แล้วค่อยลงรายละเอียด ฉะนั้นเวลาที่หลวงพ่อสอน หลวงพ่อจะสอนในระบบ GPS เห็นภาพกว้างๆ ก่อน แล้วก็มาลงรายละเอียดเป็นช็อตๆ ไป
การปฏิบัติ ไม่ต้องมานั่งเถียงกันหรอก สายไหนดีกว่าสายไหน ถ้าถูกหลักแล้วก็ดีหมด ถ้าผิดหลักก็ไม่ดีหรอก ไม่ว่าเริ่มต้น เราจะดูกาย หรือดูเวทนา หรือดูจิต สุดท้ายมันก็ลงมาที่จิตทั้งหมด ลงที่เดียวกันหมด ไม่ต้องเถียงกัน เพียงแต่บางคนลัดเข้ามาที่จิตเลย บางคนอ้อมไปทางกายก่อน ไปทางเวทนาก่อน ฉะนั้นเราจะเริ่มอย่างไรก็ได้ สุดท้ายก็ไปที่เดียวกัน ถ้าเราถนัดมาทางกาย เราก็เห็นกายเคลื่อนไหว จิตเป็นคนรู้ ถ้าเราเดินมาทางเวทนา เราก็เห็นเวทนาเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไป จิตเป็นคนรู้ ถ้าเราเดินมาทางจิตตานุปัสสนา เราก็เห็นกุศล อกุศลทั้งหลายเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไป จิตเป็นคนรู้ แล้วสุดท้ายมันก็เข้าไปที่ธัมมานุปัสสนา ทั้งรูปธรรม ทั้งนามธรรม ทั้งกุศล ทั้งอกุศล ล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ทั้งนั้น
เป็นนักปฏิบัติ จิตใจต้องตั้งมั่น จิตต้องตั้งมั่น ต้องมีเรี่ยวมีแรง อยู่ที่การฝึกของเรา เราทำกรรมฐานสม่ำเสมอ จิตมันจะมีกำลัง ทำบ้างหยุดบ้าง ไม่ได้เรื่อง จิตใจป้อแป้ๆ ฉะนั้นทุกวันเราต้องทำในรูปแบบ หมดเวลาที่ทำในรูปแบบแล้วก็เจริญสติในชีวิตประจำวันให้ได้ ทำในรูปแบบเก่ง แต่ว่าเจริญสติในชีวิตประจำวันไม่ได้ พลังของจิตมันไม่เต็มหรอก กลางวันมันรั่วหมด ฉะนั้นเราต้องพยายามรู้สึกตัวไว้ รู้สึกตัว ถึงเวลาทำในรูปแบบก็ทำด้วยความรู้สึกตัว หมดเวลาทำในรูปแบบแล้ว อยู่ในชีวิตธรรมดา ก็มีความรู้สึกตัว
ส่วนใหญ่ของฆราวาส กระทั่งพระก็เหมือนกัน ถึงเวลาก็ไปไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม หมดเวลาแล้ว ก็ปล่อยจิตใจล่องลอยไป ฟุ้งซ่าน คิดโน่นคิดนี่ มันเลยรู้สึกทำไมไม่เจริญเสียที ถ้าเราทำตัวเหมือนโอ่งน้ำรั่ว เหมือนโอ่งร้าวโอ่งแตก เติมน้ำลงไปเดี๋ยวก็รั่วไปหมดอีก คืออย่าให้มันมีรูรั่ว ขาดสติเมื่อไรก็รั่วเมื่อนั้น
คำถาม: ภาวนาในรูปแบบโดยการเดินจงกรม และนั่งดูลมหายใจ พื …
ข้อที่หนึ่ง อย่าอยากรู้แล้วเที่ยวแสวงหาว่าตอนนี้จิตเป็นอย่างไร ให้ความรู้สึกเกิดขึ้นก่อนแล้วค่อยรู้ว่ามันรู้สึกอะไร กฎข้อที่สอง ระหว่างรู้ อย่าถลำลงไปรู้ จิตต้องเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จิตผู้รู้ก็ต้องอาศัยการฝึกอย่างที่ว่า ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตที่มันหลงไปไหลไป กฎข้อที่สามของการดูจิตก็คือ อย่าเข้าไปแทรกแซงสภาวะ ความสุขเกิด ไม่ต้องไปหลงยินดีมัน ถ้าหลงยินดีให้รู้ทัน ความทุกข์เกิด ไม่ต้องไปยินร้าย ถ้ายินร้ายเกิด ให้รู้ทัน เพราะฉะนั้นหลวงพ่อถึงสรุปการปฏิบัติเอาไว้ในประโยคสั้นๆ ให้เรามีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง
บางคนยังไม่ได้ภาวนาใจสบายเป็นธรรมดา พอจะดูจิตเริ่มจ้องแล้ว เครียดแล้ว จะดูตรงไหนดี ไม่เห็นว่าใจกำลังโลภ ใจกำลังฟุ้งซ่าน สภาวะเกิดแล้วไม่เห็น ใจก็เครียดขึ้นมา หรือบางคนเห็นโทสะ โทสะเกิดขึ้นใจไม่ชอบ ไม่เห็นว่าใจไม่ชอบ มีน้ำหนักเกิดขึ้น ใจเครียด ฉะนั้นน้ำหนักที่เกิดขึ้นในใจ เป็นดัชนีชี้วัดได้ว่าเรารู้เป็นธรรมชาติไหม หรือรู้แบบมีตัณหาแทรกเข้ามา ถ้ารู้อย่างเป็นธรรมชาติ จะไม่มีน้ำหนักเกิดขึ้นในใจ ลองไปดู น้ำหนักที่เกิดขึ้นในใจเรานี้ก็ไม่คงที่ เดี๋ยวหนักมาก เดี๋ยวหนักน้อย เวลาจิตเราชั่วๆ ก็หนักมาก เวลาจิตเราเป็นกุศลก็หนักน้อยหน่อย เวลาเราอยากดีลงมือปฏิบัติ บังคับกายบังคับใจก็หนักเยอะหน่อย ถ้าเห็นกายเห็นใจมันทำงาน แต่มีความจงใจจะไปเห็นก็หนักน้อยหน่อย มีแต่หนักมากกับหนักน้อยในใจ ตรงนี้จริงๆ ก็แสดงธรรมะ จิตนี้เดี๋ยวก็หนักมาก เดี๋ยวก็หนักน้อย สั่งไม่ได้ บังคับไม่ได้ ดูอย่างนี้ก็เดินปัญญาได้
เราไม่ยึดเพราะเห็นทุกข์ ไม่เห็นทุกข์ก็ยังยึดอยู่นั่นล่ะ จะเห็นทุกข์ก็ต้องดูกาย มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง รู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง คือมีสมาธิที่ดี ตั้งมั่นและเป็นกลาง นี่เรื่องของสมาธิ สติเป็นตัวรู้ทันว่ามีอะไรเกิดขึ้นในกายในใจ แต่รู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง คือจิตที่ทรงสมาธิที่ถูกต้องอยู่ ปัญญามันถึงจะเกิด มีปัญญาก็ไม่ใช่เพื่อจะมีปัญญา มีปัญญาเพื่อจะได้เห็นทุกข์ แล้วจิตมันถึงจะปล่อยวางของมันเอง
ภาวนาที่ปฏิบัติมีสติ มีสมาธิ ลงมือปฏิบัติอะไรนั้นก็ดีทั้งสิ้น ค่อยๆ สะสมไป แต่ว่าเราอย่าโลภ ภาวนาถือว่าเราปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้า ไม่ได้หวังผลว่าจะต้องได้อันนั้น จะต้องได้อันนี้ จะต้องได้เมื่อนั้นเมื่อนี้ภาวนาแบบไม่หวังผล ถึงเวลาสงบ ถึงเวลาควรสงบก็ทำความสงบ ถึงเวลาควรเจริญปัญญาดูความจริงของกายของใจ ก็เจริญปัญญาไป ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้อะไรเมื่อไร