ขันธ์ 5 ล้วนตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์

ถ้าเรารู้กายมีจิตเป็นคนรู้ ถ้ารู้เวทนามีจิตเป็นคนรู้ ถ้ารู้สังขารก็มีจิตเป็นคนรู้ เรารู้อย่างนี้ ไม่ว่าจะรู้อะไรก็ต้องมีจิตที่เป็นคนรู้อยู่ อย่างเราฝึกเรื่อยๆ รู้สึกๆๆ พอเราหลงไปปุ๊บแล้วสติเกิด มันรู้สึกเลยร่างกายที่นั่งอยู่ตรงนี้มันไม่ใช่ตัวเรา มันเป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า ร่างกายกับจิตนี่เป็นคนละอันกัน เราพยายามรู้สึกร่างกายเรื่อยๆ จนกระทั่งจิตมีแรงขึ้นมา หลงแล้วรู้ หลงแล้วรู้ไป ทำกรรมฐานไปที่เราถนัด แล้วจิตมันหลงแล้วรู้ แล้วจิตมันจะมีแรง พอจิตมีแรงขันธ์มันจะแยก พอขันธ์แยกแล้วแต่ละขันธ์ล้วนแต่แสดงไตรลักษณ์ แสดงความไม่ใช่ตัวเราทั้งนั้นเลย

หนทางรู้ทุกข์อย่างแจ่มแจ้ง

พวกเราชาวพุทธทั้งหลายฝึกเดินในเส้นทางที่พระพุทธเจ้าสอน รู้ทุกข์คือรู้กายรู้ใจของตัวเอง อย่าละเลย รู้เรื่อยๆ จนวันหนึ่งเห็นความจริง ร่างกายจิตใจของเราเป็นแต่ของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตมันจะเบื่อหน่ายคลายความยึดถือ พอมันไม่ยึดถือมันหลุดพ้น ต่อไปร่างกายจะแก่จิตไม่สะเทือนเลย ร่างกายจะเจ็บจิตไม่หวั่นไหว ร่างกายจะตายจิตบางทีเบิกบานด้วยซ้ำไป ตัวทุกข์มันจะแตกแล้ว จิตที่ฝึกอบรมดีแล้วนำความสุขมาให้เรา แล้วการจะฝึกอบรมให้ดีก็คือการรู้ทุกข์นั่นล่ะ ดีที่สุดเลย หัดรู้สภาวะเรื่อยๆ แล้วสัมมาสติก็เกิด สัมมาสติเกิดเมื่อไร สัมมาสมาธิก็เกิด มีสัมมาสติ มีสัมมาสมาธิ สัมมาญาณะคือการเจริญปัญญาก็จะเกิด ไม่ได้คิดเอา แต่ต้องเห็นสภาวะเอา

จิตเกิดดับหมุนเวียน

จิตก็เป็นธาตุอันหนึ่ง เป็นวิญญาณธาตุ ก็เกิดดับหมุนเวียนไป จิตดวงใหม่ก็ไม่ใช่ดวงเดิม อย่างพวกคนจำนวนมากก็คิดว่าพวกเรามีจิตวิญญาณอยู่ พอเราตายแล้วจิตใจของเราดวงนี้ ออกจากร่างนี้ไปเข้าร่างใหม่ อันนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ คิดว่าจิตนี่เที่ยงจิตเป็นอมตะ เป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่รู้หรือกว่าจิตเองเกิดดับตลอดเวลา ถ้าเราภาวนายังไม่ละเอียดพอ เราก็เห็นว่าจิตมีดวงเดียว จิตอยู่กับตัวเรา เดี๋ยวก็วิ่งไปที่ตาแล้วก็วิ่งกลับมา วิ่งไปที่หูแล้วก็วิ่งกลับมา วิ่งไปที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย แล้วก็วิ่งกลับมา วิ่งไปคิดแล้วก็วิ่งกลับมา เราคิดว่าจิตมีดวงเดียว อันนี้เพราะสติปัญญาของเรายังไม่แก่กล้าพอ ต้องฝึกอีก ถ้าฝึกแล้วเราจะเห็นเลย จิตเกิดที่ไหนก็ดับที่นั่น จิตนั้นเกิดดับสืบเนื่องกันอย่างรวดเร็ว

สัมมาสติเกิดจากการเจริญสติปัฏฐาน

สติที่แท้จริง ความหมายอันนี้คือสัมมาสติ ไม่ใช่สติธรรมดา สัมมาสติเกิดจากการเจริญสติปัฏฐาน ไม่มีวิธีอื่น ขั้นแรกเลยเราต้องมีวิหารธรรม วิหารธรรมแปลว่าเครื่องอยู่ของจิต ไม่ต้องหาว่าอันไหนเป็นวิหารธรรม ไม่ต้องคิดเอง พระพุทธเจ้ากำหนดไว้ให้แล้ว สอนไว้ให้แล้ว ในมหาสติปัฏฐานสูตรก็มี มหาสติปัฏฐาน เป็นชื่อพระสูตร สติปัฏฐานมีหลายสูตร ก็มีสติปัฏฐานย่อยๆ สติปัฏฐานเต็มภูมิเลยก็เรียกมหาสติปัฏฐาน วิธีฝึก เราจะต้องมีเครื่องอยู่ให้จิตอยู่ เครื่องอยู่ที่พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ อันแรกเลยเรื่องกาย อันที่สองเรื่องเวทนา คือความรู้สึกสุขทุกข์ อันที่สามเรื่องจิต อันนี้จิตที่เป็นกุศลอกุศลทั้งหลาย อีกอันหนึ่งคือธัมมานุปัสสนา อันนี้กว้างขวางมากเลย ยังไม่ต้องเรียนก็ได้ เบื้องต้นเอาของง่ายๆ เรียนเรื่องกาย เรื่องเวทนา เรื่องจิต พวกนี้ง่าย

ทำอย่างไรจะพ้นจากทุกข์

เราจะปฏิบัติอันแรกเพื่อความพ้นทุกข์ ข้อสอง ต้องการพ้นทุกข์ก็ต้องดับที่เหตุ วิธีที่จะดับเหตุทำอย่างไร รู้ทุกข์ให้แจ่มแจ้ง ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งเมื่อไร สมุทัยก็เป็นอันถูกละอัตโนมัติ รู้ทุกข์แจ่มแจ้ง คือรู้อะไร อันที่หนึ่ง รู้ถึงความมีอยู่ของรูปธรรมนามธรรม ที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นตัวเราของเรานี้ล่ะ อันที่สอง รู้ลึกซึ้งลงไป รูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย ที่ประกอบกันเป็นตัวเราของเรานี้ ล้วนแต่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ถ้ารู้แจ้งเห็นจริงตรงนี้ได้ เราจะพ้นจากทุกข์ คือหมดความยึดถือในรูปธรรมนามธรรมนี้ ถ้าหมดความยึดถือในรูปธรรมนามธรรม ก็คือหลุดจากโลกแล้ว

สติทำให้เกิดสมาธิและปัญญา

ต้องฝึกสติให้ถูก ให้เป็นสัมมาสติจริงๆ ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก จิตใจเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง รู้สึก หัดรู้สึกเรื่อยๆ อย่างจิตเราหลงไปคิด เรามีสติรู้ เฮ้ย หลงคิดแล้ว มีคำว่า “แล้ว” ด้วย เพราะเวลาที่จิตหลงคิด ไม่มีสติอยู่แล้ว สติมาเกิดทีหลัง ตรงที่จิตมันจำสภาวะหลงคิดได้ พอจิตมันหลงคิดไป แล้วจิตมันจำได้ เฮ้ย สภาวะอย่างนี้ จิตที่ไหลๆ ออกไปอย่างนี้ มันหลง นี่มันหลงไปคิดแล้ว จิตมันจำสภาวะได้ สติเกิดปั๊บขึ้นมา สภาวะหลงคิดดับทันทีเลย สภาวะตั้งมั่นคือสัมมาสมาธิ ก็เกิดขึ้นทันที มีสติที่ถูกต้องก็จะมีสมาธิที่ถูกต้อง นี่ล่ะถ้าเราเจริญสติ อันแรกที่เราได้คือสติ อันที่สอง สมาธิ อันที่สาม ของสำคัญคือเราจะได้ปัญญา ปัญญาคือความรู้ถูกความเข้าใจถูก

กรรมฐานที่เหมาะกับเรา

การภาวนามีหลากหลาย จริตนิสัยคน พื้นฐานดั้งเดิมมันไม่เหมือนกันแต่ละคน วิธีปฏิบัติของแต่ละคนจะใช้อารมณ์กรรมฐานอะไร จะใช้วิธีแบบไหน ก็แล้วแต่ แต่ละคนไม่เหมือนกัน ไม่จําเป็นต้องเลียนแบบกัน หัดเลือก ไม่จําเป็นต้องเอาอย่างกันแต่มีปัญญาวิเคราะห์ตัวเอง อะไรที่เหมาะกับเรา ปัญญาที่วิเคราะห์ตัวเองออก ตัวนี้เรียกว่าสัมปชัญญะ ไปสํารวจตัวเองว่าเราควรจะภาวนาแค่ไหน ตอนนี้ควรจะทำความสงบ หรือควรจะฝึกความตั้งมั่น หรือควรเจริญปัญญา ดูตัวเอง สํารวจใจ วันไหนฟุ้งซ่านมากทำความสงบ วันไหนจิตมีกําลังพอ รู้ทันจิตที่ไหลไปมา จิตก็ตั้งมั่น ถ้าจิตตั้งมั่นแล้วก็เจริญปัญญา จะเจริญด้วยการดูกาย ดูเวทนา หรือดูจิต ดูธรรมก็ได้ แล้วแต่จริตนิสัย จะเจริญปัญญาในสมาธิก็ได้ เข้าสมาธิแล้วออกมาเจริญปัญญาก็ได้ เจริญปัญญาด้วยจิตที่ตั้งมั่น แล้วมันเกิดอัปปนาสมาธิเข้าฌานทีหลัง ลีลาแต่ละคนไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นไม่มีกรรมฐานอะไรดีกว่ากรรมฐานอะไร แต่เราต้องมีปัญญามีสัมปชัญญะรู้ว่ากรรมฐานอะไรที่เหมาะกับเรา ไปดูตัวเอง ช่วยตัวเอง สํารวจตัวเอง

เห็นทุกข์ด้วยสติปัฏฐาน

ค่อยภาวนา เริ่มจากกายก็ได้ เวทนาก็ได้ จิตก็ได้ แล้วสุดท้ายมันจะลงมาที่ปฏิจจสมุปบาท ลงมาที่อริยสัจทุกคน เพราะถ้ายังไม่ถึงรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ ยังไม่จบกิจในพระพุทธศาสนา เรียกว่ายังไม่รู้ทุกข์ ยังไม่ได้รู้ทุกข์ ฉะนั้นเราดูกายก็ได้ แล้วต่อไปเราก็เข้ามาเห็นทุกข์ได้ ดูเวทนา ดูจิตแล้วก็เข้ามาเห็นทุกข์ได้ เห็นทุกข์ก็เห็นธรรมนั่นล่ะ พอเรารู้ความจริงแจ่มแจ้ง กาย เวทนา จิต ธรรมไม่มีอะไร มีแต่ทุกข์ล้วนๆ มีแต่ของไม่เที่ยง มีแต่ของถูกบีบคั้น มีแต่ของที่อยู่นอกเหนืออำนาจบังคับ พอเห็นอย่างนี้จิตมันจะวาง พอจิตมันปล่อยวางได้ รู้ทุกข์จนมันละสมุทัยแล้ว มันก็แจ้งนิโรธ

การทำสมาธิกับการเจริญปัญญา

การทำสมาธิกับการเจริญปัญญาทำได้ตั้งหลายรูปแบบ ใช้ปัญญานำสมาธิ คิดพิจารณาไปก่อน แล้วทำความสงบเป็นระยะๆ ไป แล้วถึงจุดที่กำลังมันพอ สติ สมาธิ ปัญญาพอ ก็จะเกิดอริยมรรคได้ หรือใช้สมาธินำปัญญา ทำความสงบลึกลงไปก่อน พอถอนออกมา ให้ดูกาย อย่าดูจิต ดูจิตมันจะว่างๆ เพราะจิตมันยังทรงกำลังของสมาธิอยู่ พอพิจารณาลงไปในร่างกาย ไม่ต้องพิจารณามากอันนี้ ไม่ต้องคิดเยอะเลย พอจิตทรงสมาธิแล้วพอถอยออกมาปุ๊บ มันเห็นเลยร่างกายไม่ใช่เราหรอก เป็นแค่วัตถุ เป็นแค่ก้อนธาตุ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ มีเวทนาเกิดขึ้นในร่างกายก็รู้ เห็นเวทนาในร่างกายดับไปก็รู้ จิตตั้งมั่น เป็นคนรู้ อันนี้เราใช้สมาธินำปัญญา อีกแบบหนึ่ง แบบที่สาม ใช้ปัญญากับสมาธิควบกัน

สัมมาทิฏฐิ

เราเรียนธรรมะ สิ่งที่เราจะได้มาก็คือตัวสัมมาทิฏฐิ ความรู้ถูก ความเข้าใจถูก ไม่ได้อย่างอื่น สิ่งที่ได้จริงๆ แค่สัมมาทิฏฐิ ถ้าเรารู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ เรียกเรารู้จักสัมมาทิฏฐิแล้ว ใจเราก็จะหมดตัณหา หมดความยึดถือ หมดความอยาก หมดความยึด หมดความดิ้นรน ความอยากคือตัณหา ความยึดถือคืออุปาทาน ความดิ้นรนของจิตคือภพ ถ้าหมดสิ่งเหล่านี้ จิตก็จะไม่ไปหยิบฉวยขันธ์ 5 ขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันจะไม่ไปหยิบฉวยจิตขึ้นมา ขันธ์ 5 เป็นตัวทุกข์ ถ้าจิตเราไม่ไปหยิบฉวยขันธ์ 5 ขึ้นมา จิตมันก็พ้นทุกข์ คือพ้นจากขันธ์ 5

Page 1 of 6
1 2 3 4 5 6