วิธีไปสู่นิพพาน

หลวงพ่อจะพูดภาพกว้างๆ ให้พวกเราเห็น หัวข้อที่จะพูดข้อแรกก็คือเรื่องความรู้สึกตัว หัวข้อที่สอง คือเรื่องของสมถกรรมฐาน หัวข้อที่สาม เรื่องวิปัสสนากรรมฐาน เรื่องหัวข้อที่สี่ เรื่องอริยมรรค อริยผล หัวข้อที่ห้า คือเรื่องนิพพาน เราจะไปสู่นิพพาน นิพพานเป็นสภาวะที่เราพ้นทุกข์สิ้นเชิง ฉะนั้นจะตอบโจทย์เราว่าเราจะไปสู่ความพ้นทุกข์ได้อย่างไร

ขันธ์ 5 ล้วนตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์

ถ้าเรารู้กายมีจิตเป็นคนรู้ ถ้ารู้เวทนามีจิตเป็นคนรู้ ถ้ารู้สังขารก็มีจิตเป็นคนรู้ เรารู้อย่างนี้ ไม่ว่าจะรู้อะไรก็ต้องมีจิตที่เป็นคนรู้อยู่ อย่างเราฝึกเรื่อยๆ รู้สึกๆๆ พอเราหลงไปปุ๊บแล้วสติเกิด มันรู้สึกเลยร่างกายที่นั่งอยู่ตรงนี้มันไม่ใช่ตัวเรา มันเป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า ร่างกายกับจิตนี่เป็นคนละอันกัน เราพยายามรู้สึกร่างกายเรื่อยๆ จนกระทั่งจิตมีแรงขึ้นมา หลงแล้วรู้ หลงแล้วรู้ไป ทำกรรมฐานไปที่เราถนัด แล้วจิตมันหลงแล้วรู้ แล้วจิตมันจะมีแรง พอจิตมีแรงขันธ์มันจะแยก พอขันธ์แยกแล้วแต่ละขันธ์ล้วนแต่แสดงไตรลักษณ์ แสดงความไม่ใช่ตัวเราทั้งนั้นเลย

บุคคลถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา

ผู้รู้นี้เป็นศัพท์เฉพาะ หมายถึงเป็นจิตที่เราพัฒนามันขึ้นมา เอามาใช้งาน ถึงอย่างไรวันหนึ่งเราก็ต้องปล่อยวาง ถ้าไม่ปล่อยวาง เราก็จะไปเกิดเป็นพระพรหม แล้วสูงสุดของผู้ปฏิบัติ ถ้ายังไม่วางจิต ก็จะไปเป็นพรหม หลวงปู่ดูลย์ท่านเคยบอกว่า ท่านพิจารณาแล้วนักปฏิบัติส่วนใหญ่เป็นผีใหญ่ ภาษาท่าน ผีใหญ่คือเป็นพรหม ภาวนาแล้วก็ไปเป็นพระพรหมกัน ต้องเดินปัญญาให้ถ่องแท้ ถึงจะเอาตัวรอดได้ บุคคลถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา ไม่ใช่ด้วยสมาธิ สมาธิเป็นแค่เครื่องมือตัวหนึ่ง

สติปัฏฐาน

ไปดูตัวเอง ถนัดรู้กาย เราก็รู้กาย ถนัดรู้เวทนา ก็รู้เวทนา ถนัดดูจิตที่เป็นกุศลอกุศล เราก็รู้จิตไป รู้ไปเรื่อยๆ แล้วต่อมาเราก็จะเห็นทุกอย่างที่เรารู้มันเป็นของถูกรู้ถูกดู ร่างกายก็ถูกรู้ เวทนาก็ถูกรู้ จิตที่เป็นกุศลอกุศลก็ถูกรู้ เราเริ่มเดินปัญญาแล้ว แล้วต่อมาเราเห็นความเป็นไตรลักษณ์ ร่ายกายก็อยู่ใต้ไตรลักษณ์ เวทนาก็อยู่ใต้ไตรลักษณ์ จิตก็อยู่ใต้ไตรลักษณ์ อันนี้เราขึ้นวิปัสสนาแล้ว เราเดินไปในเส้นทางอันนี้ เส้นทางของสติปัฏฐาน เรียกว่าเอกายนมรรค คําว่าเอกายนมรรค หรือทางเอก เป็นทางสายเดียวเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น

บูชาคุณพระพุทธเจ้าด้วยการปฏิบัติ

ถ้าเราเดินตามเส้นทางนี้ นี่คือทางที่พระพุทธเจ้าสอนเรา แต่เราอย่าเดินเพื่อหาอะไรเข้าตัว เดินไปด้วยความเคารพ ศรัทธาแน่นแฟ้นในพระพุทธเจ้า เรารักษาศีลเป็นเครื่องบูชาพระพุทธเจ้า ทำสมาธิให้จิตสงบ ไม่วุ่นวายอยู่กับกามคุณอารมณ์ในโลกก็เพื่อบูชาพระพุทธเจ้า ฝึกจิตให้ตั้งมั่นก็เพื่อบูชาพระพุทธเจ้า แยกรูปแยกนาม แยกธาตุแยกขันธ์ เพื่อบูชาพระพุทธเจ้า ถ้าเจริญปัญญาเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของรูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย กระทั่งตัวจิตผู้รู้ ถือว่าเราปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้า

การปฏิบัติบูชานั้น มีอานิสงส์ยิ่งใหญ่ ยิ่งกว่าอามิสบูชา การบูชามี 2 อย่าง อามิสบูชา อย่างเราหาดอกไม้ธูปเทียน มาไหว้พระ ถามว่าดีไหม ดี ใส่บาตรให้พระฉันเป็นอามิสบูชา หรือปฏิบัติบูชา ก็แล้วแต่ปัญญาของเรา ถ้าปัญญาเราไม่มาก มันก็เป็นแค่อามิสบูชา เอาของมาถวายพระ ถ้าเรามีปัญญามาก เราก็เห็นว่าที่เราทำนี้ เพื่อลดละกิเลสตัวเอง นี่เราปฏิบัติบูชา

ชาวพุทธต้องศึกษาปฏิบัติ

ชาวพุทธเราร่อยหรอเต็มทีแล้ว ชาวพุทธเราไม่ได้เชื่อฟังพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ได้ใส่ใจในการศึกษา ชาวพุทธเรายังตกอยู่ในความประมาท ใช้ชีวิตร่อนเร่ไปวันๆ หนึ่ง แล้วก็หวังพึ่งคนอื่น หวังพึ่งสิ่งอื่น ไม่เชื่อกรรม ไม่เชื่อผลของกรรม ไม่ใช่ชาวพุทธหรอก มันเป็นพุทธแต่ชื่อหรอก ไม่มีการศึกษาอย่างยิ่งเลย เชื่องมงาย หวังแต่จะพึ่งปาฏิหาริย์ ไม่ใช่ชาวพุทธหรอก ชาวพุทธเชื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เชื่อในการศึกษาปฏิบัติ ไม่ประมาทในการดำรงชีวิตของเรา ถ้าทำอย่างนี้ได้ เราก็จะเป็นชาวพุทธที่แท้จริงได้ ถ้าหวังพึ่งปาฏิหาริย์ หวังพึ่งคนอื่นให้มาช่วยเรา ต้องรู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้หรอก

ความอดทนในการภาวนา

เราเวียนว่ายตายเกิดมายาวนานขนาดนี้ ผ่านพระพุทธเจ้ามานับจำนวนไม่ถ้วน ก็เพราะนิสัยเหลวไหลนี่ล่ะ นิสัยไม่สู้ ยอมให้กิเลสมันลากมันจูงเราไป มันต้องสู้ ต้องสู้ ยอมลำบากเสียก่อนแล้วสบายทีหลัง บอกเลยว่าภาวนาแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้มันมหาศาล มันมีความสุขที่ไม่มีอะไรเหมือน ความสุข มันมีความสงัดอยู่ภายใน ไม่ใช่สงบนะ มันสงัดอยู่ข้างใน จิตมันทรงสมาธิอัตโนมัติอยู่ มันสงัดอยู่ภายใน แล้วมันก็สงบ สงบ ความสุขมันล้นเอ่อขึ้นมา โดยจิตไม่ติดมัน ถ้าจิตยินดีพอใจเมื่อไร ก็แสดงว่ายังไม่ใช่ ยังบรรลุมรรคผลไม่พอ ต้องทำอีก ก็ต้องฝึก ของฟรีไม่มี ธรรมะก็อยู่ใต้กฎแห่งกรรม ทำอย่างไรก็ได้ผลอย่างนั้น ของฟรีไม่มี ของฟลุกไม่มี

การทำหน้าที่คือการปฏิบัติธรรม

หลวงพ่อเคยบอกบ่อยๆ ว่า การทำหน้าที่ของเราในทางโลกที่ถูกต้อง ไม่ขัดไม่ขวางการปฏิบัติธรรม เราเป็นครู เราก็ทำหน้าที่ของครูให้ดี เราก็ปฏิบัติธรรมได้ ท่านพุทธทาสท่านก็พูดว่า “การปฏิบัติงาน การทำหน้าที่นั่นล่ะ คือการปฏิบัติธรรม” แต่ต้องทำให้เป็น ถ้าทำหน้าที่ งานที่เป็นอกุศลนี้ไม่ใช่ ทำแล้วจิตใจยิ่งแย่ลง ถ้างานเป็นงานที่ดี อย่างเราเป็นหมอ เรารักษาคนไข้ ถ้ารักษาไปแล้วโมโหไป อันนี้ไม่ใช่แล้ว จิตเป็นอกุศล ถ้าเราทำงานที่เป็นกุศล ด้วยจิตที่เป็นกุศล สมาธิมันเกิด เกิดได้เอง ไม่ยากหรอก เพราะฉะนั้นการทำหน้าที่ จะทั้งหน้าที่ทางโลกหรือหน้าที่ทางกรรมฐาน ทำไปด้วยจิตใจที่เป็นกุศลไว้แล้วมันจะพัฒนาง่าย

เคล็ดวิชาฝึกจิตเพื่อเดินปัญญา

จิตที่พร้อมเจริญปัญญา ก็เป็นจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง จิตที่ตั้งมั่นเป็นจิตที่มีลักขณูปนิชฌาน ส่วนจิตที่เป็นกลาง ตัวนี้จะทำให้จิตมีพลัง เป็นอารัมมณูปนิชฌาน หลวงพ่อถึงบอกว่า “มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง (ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง) การรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงคือการเจริญปัญญา สิ่งที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยเกื้อหนุนการเจริญปัญญา คือ สัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิก็คือสภาวะที่ตั้งมั่นและเป็นกลางนั้นล่ะ ตั้งมั่นเอาไว้เดินปัญญา เป็นกลางนี้เอาไว้ชาร์จพลังให้จิตมีเรี่ยวมีแรง ในสติปัฏฐานทั้ง 4 ขอให้มีจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง สติระลึกอะไร อันนั้นแสดงไตรลักษณ์ทั้งหมด เราเห็นไตรลักษณ์นั่นล่ะ ที่หลวงพ่อใช้คำว่า “เห็นตามความเป็นจริง” ความเป็นจริงคือไตรลักษณ์

Page 1 of 3
1 2 3